เมื่อปี พ.ศ. 2478 วัดนครโกษาประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติเป็นศาสนาสถานสมัยทวารวดี ตามข้อสันนิษฐานจากองค์ประกอบของอิฐที่มีขนาดใหญ่และมีส่วนผสมของแกลบในปริมาณสูง เมื่อขุดฐานเจดีย์ลงไปประมาณหนึ่งเมตรก็จะพบฐานเดิมที่เป็นรูปคนแบกซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ ในยุคทวาราวดี ส่วนพระอุโบสถ วิหาร สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างเมืองลพบุรีและสันนิษฐานว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่งานดำเนินการในครั้งนั้นจึงได้ชื่อว่า”วัดนครโกษา” ด้านหน้าวัดมีปรางค์แบบลพบุรีและพระพุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนพระปรางค์ ด้านหลังของเจดีย์ประธาน มีวิหารขนาดเล็กซึ่งพังทลายลงมาเหลือเพียงส่วนฐานบนฐานชุกชีนั้นพบประติมากรรมหินทรายมีพระพุทธรูปที่ไม่มีเศียรประดิษฐานอยู่ 5 องค์ และมีเฉพาะพระบาทมีฐานอยู่ติดกันอีก 2 องค์ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการรูปจำหลักในยุคเขมร ที่สร้างสรรค์จากหินทราย ทางทิศตะวันตกนั้นเป็นวิหารหลวงที่มีขนาดใหญ่ราว 3 เท่าจากวิหารด้านหน้ายังมีชิ้นส่วนของเสาและผนังหน้าต่างเป็นแบบช่องซี่สี่เหลี่ยมหลงเหลืออยู่เพื่อให้คนรุ่นหลังรำลึกถึงความรุ่งเรืองของศาสนาในยุคก่อน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 3641 2510, 0 3641 3779