เดิมทีที่นี่มีชื่อว่า “ลพบุรีพิพิธภัณฑสถาน” เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2466 และได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ และนิทรรศการต่าง ๆ แบ่งอาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเป็น 4 อาคาร คือ 1. พระที่นั่งพิมานมงกุฎ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดี จังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสำริด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น ภายในพระที่นั่งแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ได้แก่ – ห้องภาคกลางประเทศไทย พ.ศ. 800-1500 รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวารวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อ หลักฐานที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่าง ๆ – ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร-ลพบุรี จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย เช่น ทับหลัง พระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นต้น – ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมที่พบตามภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12-18 ที่เป็นศิลปะแบบหริภุญไชย ศิลปะล้านนา ศิลปะสมัยลพบุรี เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสำริดสมัยต่าง ๆ เป็นต้น – ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พุทธสตวรรษที่ 18-24 ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้นและไม้แกะสลักต่าง ๆ – ห้องศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงภาพเขียน และภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย – ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2399 ได้แก่ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นพระบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีรูปมงกุฎซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นต้น 2. พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และห้องด้านหลังจัดแสดงงานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ 3. หมู่ตึกพระประเทียบ (อาคารชีวิตไทยภาคกลาง) เป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของคนไทยภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรีที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน 4. พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ซึ่งมาจากวัดตะเคียน ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมืองลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30น. เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 3641 1458