ในโอกาสวันตรุษจีนปีขาลนี้ ขอพักเรื่องเครียด ๆ และหาเรื่องในอดีต ที่อาจช่วยผ่อนคลายได้บ้าง มาเล่าสู่กันฟัง แต่ก่อนอื่น ขอเริ่มด้วยคำอวยพรดังนี้
ซินเหนียนไคว่เล่อ: สวัสดีปีใหม่
ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฟาไฉ: คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนา มีแต่ความสุขและร่ำรวยตลอดปี
ซื่จี้ผิงอัน: ขอให้ปลอดภัยตลอดปี
จู้หนินปู้ปู้เกาเซิง: ขอให้ท่านเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
อ่านต่อได้ที่ https://www.wongnai.com/news/chinese-new-year-greeting?ref=ct
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” มันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ พระเจ้าจึงลงโทษมัน อนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับ เหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูก เหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก (ดู https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/ChinNY/page3.html)
เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนาน ต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า “ตรุษจีน” (ดู http://www.zabzaa.com/event/chinesenewyear.htm)
มีตำนานอีกเรื่องหนึ่งคือตำนานพระเจ้าเหา เราคงรู้จักสำนวน “เรื่องนี้เก่าแก่ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา” ก็เลยเกิดคำถามว่าสมัยพระเจ้าเหานั้นเก่าแค่ไหน ด้วยความรักชาติยิ่ง มีคนหลายคนอยากเชื่อว่าเชื้อชาติไทยมีอยู่จริงตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา คุณหมอคนหนึ่งที่ผมเคารพอย่างสูงเป็นคนเล่าตำนานนี้ให้ผมฟังโดยเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ดังนี้
“พระเจ้าเสี่ยวเหา (หรือพระเจ้าเหาน้อย) กษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในพงศาวดารจีนครองราชย์ระหว่าง 2,054 ถึง 1,871 ปี ก่อนพุทธศักราช เชื่อว่าพระองค์เป็นต้นตระกูลของชนชาวไทย ซึ่งลูกหลานในภายหลังได้กลายเป็นชาวดอยไปอยู่ในมณฑล ฮูนาน กวางตุ้ง กวางสี กุยจิว เสฉวน และหยุนนาน ซึ่งชนชาวจีนได้พบชาวดอยนี้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น”
สืบค้นจาก มติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ความว่ายังมีข้อสันนิษฐานที่มาของสำนวน “เรื่องนี้เก่าแก่ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา” อีก ดังนี้
คำว่า พระเจ้าเหา มาจากชื่อตึกหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รัชกาลที่ 5 มีพระราชวิจารณ์ว่า ‘คำว่าเหานี้ สันนิษฐานว่าเป็นภาษาเขมร แปลว่า เรียก หมายความว่ารับสั่งให้เข้าหา หรือเข้ามาประชุม สำหรับตึกที่สมเด็จพระนารายณ์ฯทรงสร้างในพระราชวังเมืองลพบุรี ตึกพระเจ้าเหาจึงแปลได้ว่า “ตึกพระเจ้าเรียก” เป็นที่สำหรับขุนนางประชุมปรึกษาราชการ ถ้าจะแปลเป็นฝรั่งก็แปลได้ตรง ๆ ตัวว่า “Convocation Hall”’
ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือ พระเจ้าเหา ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินชื่อ เหา แต่น่าจะมาจากคำจีนว่า เฮ่า เช่น เมี่ยวเฮ่า โดยคำว่า เมี่ยว หมายถึง ศาล ในที่นี้หมายถึงศาลสถิตวิญญาณบูรพกษัตริย์ของพระราชวงศ์ ซึ่งไทยเรียก “หอพระเทพบิดร” ส่วนคำว่า “เฮ่า” ซึ่งเป็น “นามพิเศษ” ปรากฏอยู่ในหนังสือ ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่
อย่างไรก็ตาม ตามพงศาวดารจีน พระเจ้าเสี่ยวเหาครองราชย์เมื่อประมาณ 4,500 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นอีกหลายพันปี จึงพอมีหลักฐานถึงคนที่พูดภาษาตระกูลไท-ไต แล้วพวกเขาจะจดจำว่าเคยมีพระเจ้าเสี่ยวเหาได้ละหรือ
มีคนไทยจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เชื่อว่าชนชาติไทยเคยอยู่ที่เทือกเขาอัลไต เรื่องนี้มีต้นทางมาจากหนังสือเรื่อง หลักไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 เขียนโดย ขุนวิจิตรมาตรา จากนั้นชนชาติไทยอพยพมาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งเรืองอำนาจระหว่าง พ.ศ. 1281 ถึง 1445 เมืองหลวงคือเมืองต้าหลี่ อาณาจักรนี้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือมณฑลยูนนานและบางส่วนของมณฑลเสฉวนและกุ้ยโจว หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 9 กันยายน 2564 ลงบทความชื่อว่า “จีนหงุดหงิด ‘คึกฤทธิ์’ ปล่อยมุขเรียกคืนดินแดนยูนนาน ‘อาณาจักรไทย’” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “น่านเจ้าเป็นอาณาจักรที่ถูกสร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของชนชาติไป๋และอี๋ ในช่วงราชวงศ์ถัง และการพิชิตน่านเจ้าโดยกุบไลข่านเป็นการพิชิตโดยสันติ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการอพยพขนานใหญ่”
ถ้าชาวไท-ไตไม่เคยอาศัยในแถบเทือกเขาอัลไต แล้วใครเล่าเคยอาศัยในแถบนี้ การค้นคว้าทางโบราณคดีแสดงหลักฐานมากมาย โดยเฉพาะหลุมฝังศพแบบเนินดินรูปวงกลม ที่ทางรัสเซียเรียกว่า เคอกัน (Kurgan) ซึ่งภายใต้เนินบรรจุไปด้วยทรัพย์สมบัติมีค่าที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย ในอดีต เทือกเขาอัลไตเคยมีชาวซิเถียน (Scythians) [บางครั้งถูกเรียกว่า ศะกะ (Saka)] อาศัยอยู่ นักโบราณคดีหลายคนเชื่อว่า ชาวซิเถียนพูดภาษาในตระกูลอิหร่าน (ไม่ใช่ไท-ไต แน่ ๆ) ชาวจีนชอบเรียกพวกนี้ว่าป่าเถื่อน ใช้คำว่า ซงหนู (แปลว่า พวกป่าเถื่อนบนภูเขา) สำหรับชาวจีน ซงหนู หมายถึงชนหลากหลายชาติพันธุ์ และเป็นคู่ปรับคู่แค้นของชาวจีนมาตลอด จนกระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้ต้องสร้างกำแพงเมืองจีนมาป้องกันการรุกราน อันที่จริง เราอาจเคยได้ยินชื่อ ซงหนู จากพงศาวดารหรือหนังสือกำลังภายใน ซงหนูมีวัฒนธรรมแบบชนเผ่าที่ใช้ชีวิตบนหลังม้า เป็นนักรบที่กล้าหาญ เลี้ยงสัตว์ และร่ำรวยจากเส้นทางสายไหม (ดู https://thestandard.co/altai-mountains-question-of-thai-tai-origins/)
อย่างไรก็ตาม นักชาตินิยมไทยผู้ถนัดโคลงกลอนก็มิวายร่ายนิทานตำนานตามความเชื่อโดยไม่ต้องอ้างอิงใคร ความว่า
“ชาติเรามีไสมัญญาว่าชาติไทย เป็นชาติใหญ่แต่โบราณนานนักหนา
ภูมิลำเนาของเราแต่ก่อนมา อยู่ท่ามกลางพสุธาของเอเชีย
เมื่อชาติจีนรุกร้นร่นลงใต้ เข้าแย่งไทยทำกินถิ่นก็เสีย
จีนไล่ไทยเหมือนไฟไหม้ลามเลีย ไทยต้องเสียดินแดนแคว้นโบราณ
ถูกแย่งที่หนีร่นลงทางใต้ ไทยมาตั้งเมืองไทยอย่างไพศาล
ชื่อน่านเจ้าอยู่ไปไม่ได้นาน จีนก็ตามรุกรานถึงทางนี้
เมื่อถูกรุกสุดสู้อยู่ไม่ได้ ไทยก็แตกแยกกันไปหลายวิถี
ไทยอีสานเลื่อนลงโขงนที ไทยใหญ่หนีร่นมาอยู่สาละวิน
พวกไทยน้อยพลอยเลื่อนเคลื่อนลงมา อยู่แม่น้ำทั้งห้าทางทักษิณ
คือ ยม น่าน ปิง วัง ตั้งทำกิน พวกไทยกลางยึดถิ่นเจ้าพระยา”
อ่านแล้วชวนคล้อยตามความยิ่งใหญ่ของชนชาติไทยแต่โบราณ เพียงแต่ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรของจีนเท่านั้น เอาละ ถึงไม่เก่าแก่ถึงสมัยพระเจ้าเหา หรือสมัยน่านเจ้า แต่คนที่มีวัฒนธรรมและพูดภาษาไท-ไต ก็กระจายตัวอยู่เป็นวงกว้าง ปัจจุบันมีชาวไท-ไตอาศัยอยู่ทางตะวันตกในรัฐอัสสัม (ไทอาหม) อยู่ในจังหวัดสิบสองปันนา (ไทลื้อ, ไทหย่า, ไทเหนือ, ไทยวน, ลาว) และอยู่ทางตะวันออกที่เมืองแถง (ไทดำ ไทขาวในเดียนเบียนฟู) เป็นต้น แสดงว่าไท-ไตเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่วัฒนธรรมหนึ่งที่มีความยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
ผมมีข้อสันนิษฐานว่า ชาวไท-ไตเคยอาศัยอยู่ทางใต้ของจีนและในเอเชียอาคเนย์ ตามหุบเขาต่าง ๆ ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ปัจจุบัน เขตปกครองตนเองชนชาติไทในสิบสองปันนามีประชากรประมาณ 1.13 ล้านคน เป็นชาวไท-ไตและชาวจีนฮั่นจำนวนใกล้เคียงกัน (ประมาณ 300,000 คน) ที่เหลือประมาณสี่แสนกว่าคนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 12 กลุ่ม (ดู https://th.wikipedia.org/wiki/เขตปกครองตนเองชนชาติไท_สิบสองปันนา#กลุ่มชาติ) แสดงว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ ด้วยการอาศัยอยู่ตามหุบเขาต่าง ๆ สามารถรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้ได้เพราะไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันมากนัก และอาจเป็นเช่นนี้มานานแล้ว เนื่องจากมีเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย ตอนใต้ของจีนและเอเชียอาคเนย์ ถือว่าอยู่ทางตีนเขาของภูเขาหิมาลัย เป็นที่ราบสูงบ้าง เป็นหุบเขาบ้าง โดยมีเทือกเขาหลายแห่งที่ทอดตัวในแนวจากเหนือ (จากหิมาลัย) ลงใต้ (สู่พื้นที่ริมทะเล) การย้ายถิ่นจากที่ราบสูงที่อยู่ด้านเหนือลงใต้ จะสะดวกกว่า จึงเป็นไปได้ว่าชาติพันธุ์ไท-ไต ค่อย ๆ ย้ายถิ่นฐาน ถากถางที่ทำมาหากิน ลัดเลาะลงมาตามหุบเขาและลุ่มน้ำต่าง ๆ ผลจึงเป็นการกระจายตัวดังปรากฏเป็นการตั้งถิ่นฐานจากอินเดียจรดเวียดนามในปัจจุบัน
จึงเกิดทฤษฎีใหม่ว่าชาติพันธุ์ไท-ไต มาจากที่ราบสูงที่นักวิชาการขนานนามว่า โซเมีย (อังกฤษ: Zomia) เป็นคำศัพท์ที่สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2545 โดยนักประวัติศาสตร์วิลเลิม ฟาน สแค็นเดิล (Willem van Schendel) จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เป็นคำใช้เรียกบริเวณที่ราบสูงในเอเชียอาคเนย์ที่ในอดีตไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลของผู้คนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่ม (ดู https://th.wikipedia.org/wiki/โซเมีย_(ภูมิศาสตร์)
ผมอยากสรุปว่าชาวไท-ไต ไม่ได้มาจากไหนไกล ไม่เคยก่อตั้งอาณาจักร เพราะรักที่จะอยู่ในบริเวณหุบเขาในที่ราบสูงของเอเชียอาคเนย์ จะมาเริ่มก่อตั้งอาณาจักรก็ต่อเมื่อได้ย้ายถิ่นฐานมาสู่ที่ราบลุ่ม ภายหลังจากที่ชาติพันธุ์ เขมร มอญ พยู (Pyu) พม่า เวียด จาม ฯลฯ ได้มาตั้งอาณาจักรของตนอยู่ก่อนแล้วในเอเซียอาคเนย์ ข้อสรุปอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวไท-ไต มีความสัมพันธ์กับชาติพันธุ์ที่อาศัยในดินแดนทางใต้ของจีนมานานแล้ว ก่อนที่จะมีประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรสำหรับชนชาติไท-ไตด้วยซ้ำไป เพียงแต่ยังขาดหลักฐาน จึงจำเป็นจะต้องค้นคว้ากันต่อไป โดยใช้วิชาการทางโบราณคดี ทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอื่น ๆ และแม้แต่โดยการศึกษาทางพันธุ์กรรม การที่ชาวไท-ไตจะมีเชื้อสาย (ดูได้จากพันธุ์กรรม) ที่หลากหลายไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะชาติพันธุ์นั้นเป็นเพียงสมมุติสัจจะ ที่สำคัญกว่าคือการเป็นมนุษย์ผู้เจริญ ผู้รักความยุติธรรมและรักเพื่อนมนุษย์ ในบรรดาผู้ที่มีสัญชาติไทยในปัจจุบัน มีผู้ประเมินว่า มีคนเชื้อสายจีนอยู่ประมาณ 20 ล้านคน และมีคนที่ได้รับมรดกทางวัฒนธรรมจากจีนอีกจำนวนมาก กล่าวได้ว่าไทยกับจีนเป็นพี่น้องกันนั่นเอง
โคทม อารียา