เปิดงบฯ โครงการจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมยุทธโยธาทหารบก เป็นการจ้างก่อสร้างแท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์ ร.9 ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี โดยวิธีคัดเลือก มูลค่าโครงการประมาณ 60 ล้าน ซึ่งจุดใกล้กับที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ถูกรื้อออก
11 มี.ค.2565 จากเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กชื่อ “กรมยุทธศึกษาทหารบก” โพสต์ข้อความ พร้อมภาพวันนี้ (6 มี.ค.) ระบุว่า กองทัพบกอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล หรือชื่อเดิมคือ ‘ค่ายพหลโยธิน’ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.ลพบุรี โดยที่ ข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพบก ระบุว่า พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมด้วยพลตรีหญิง พิมพ์พิศา จิตต์แก้วแท้ นายกสมาคมแม่บ้านทหารบก ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี อธิบดีกรมศิลปากร นายอำเภอเมืองลพบุรี ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน ประชาชนในพื้นที่ร่วมในพิธี ประกอบด้วยพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ของพระสงฆ์ 10 รูป พิธีบวงสรวงพระบรมรูปฯบริเวณแท่นประดิษฐาน
อีกทั้งในข่าวประชาสัมพันธ์ของกองทัพบกระบุอีกว่า การอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์มาประดิษฐาน ณ ค่ายภูมิพล ในครั้งนี้ กองทัพบกได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมศิลปากร ในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมแท่นประดิษฐาน และแบบภูมิทัศน์ โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ จากนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างตามกรอบเวลาจนแล้วเสร็จ โดยกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นหน่วยควบคุมงาน
10 มี.ค. 65 บล็อกเกอร์และผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘พูติกาล ศายษีมา’ ซึ่งมักนำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและสถาบันฯ ดำเนินการสืบค้นโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างแท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์ ร.9 นี้ ผ่าน ACT Ai http://actai.co ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรัฐ
โครงการจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างแท่นประดิษฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ของ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี โดยวิธีคัดเลือก ผู้รับจ้าง บริษัท ไอยเรศ จำกัด วงเงินสัญญา 59,873,500 บาท ที่มา : https://actai.co/ProjectDetail/64067459274?fillterPj=
จากการสืบค้นของ พูติกาลฯ พบว่า โครงการนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างหลายรายการ โดยรายการหลักทำโดยกรมยุทธโยธาทหารบก เป็นการจ้างก่อสร้างแท่นประดิษฐานอนุสาวรีย์ ร.9 ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี โดยวิธีคัดเลือก มูลค่าโครงการประมาณ 60 ล้าน
ซึ่งโครงการนี้จะสร้างเพียงส่วนฐาน โดยส่วนพระบรมรูป ร.9 นั้น จะใช้ของเดิมที่สร้างโดยวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ในปี 2555/56 ซึ่งแต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง ในเอกสารเผยแพร่ “ข่าวกองทัพบก” ให้ข้อมูลว่า ร.10 ได้พระราชทานพระบรมรูปนี้ให้กับทางกองทัพบก
พูติกาลฯ ระบุอีกว่า โครงการนี้ยังมีการจัดจ้างปรับปรุงภูมิทัศน์เตรียมการสนับสนุนการอัญเชิญฯ งบประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งในรายละเอียดพบว่าส่วนใหญ่คือ การจ้างทุบรื้ออนุสาวรีย์จอมพล ป.และสวนหย่อม ซึ่งเดิมตั้งอยู่บนวงเวียนหน้าศูนย์การทหารปืนใหญ่ และติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ทดแทน ซึ่งก็น่าแปลกว่าอนุสาวรีย์จอมพล ป. นี้มันตั้งอยู่บนวงเวียนที่อยู่นอกพื้นที่ค่ายทหาร ทบ.ถือสิทธิ์อะไรมาทุบทำลาย
พูติกาล ระบุว่า ถ้าเทียบกับขนาดส่วนฐานอนุสาวรีย์พระยาพหลฯที่ถูกทุบรื้อไป(ในวงกลมสีแดง) กับ ส่วนฐานของอนุสาวรีย์ ร.9 (ในวงกลมสีเหลือง) ก็จะเห็นถึงความมโหฬารของโครงการนี้ ซึ่งมีฐานเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กรูปแปดเหลี่ยมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 เมตร มีเสาเข็มถึง 359 ต้น
ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2562 สำนักข่าว บีบีซีไทย รายงานเมื่อ 27 ธ.ค. 62 ระบุว่า พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นหนึ่งในปีกทหารของคณะราษฎร ให้ข้อมูลว่า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี จะจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และอนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อที่จะทำการย้ายอนุสาวรีย์ทั้งสองแห่งออกในเดือน ม.ค. 2563 แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการรื้อออกหรือจัดเก็บไว้ยังสถานที่ใด
ก่อนที่ต่อมา เมื่อ 26 ม.ค. 63 ทีมผู้สื่อข่าวประชาไท ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในค่ายภูมิพล หรือค่ายพหลโยธิน โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าลานหน้าสโมสรนายทหาร ปรากฏว่าไม่พบอนุสาวรีย์พระพหลฯ อีกแล้ว และเมื่อ 6 มี.ค. 65 มีการทำพิธีพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตามที่รายงานข้างต้น
ภาพเทียบจุดที่เป็นอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ก่อนถูกย้ายออกไป กับพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9
นอกจากนี้ สำหรับค่ายภูมิพล เดิมชื่อค่ายว่า ‘ค่ายพหลโยธิน’ แต่มีการเปลี่ยนชื่อหลังจากเมื่อ 24 มี.ค. 63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเปลี่ยนแปลงนาม ค่ายทหาร ประกอบด้วย ศูนย์การทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” มีที่ตั้ง ว่า “ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานนามย่อว่า “ค่ายภูมิพล” และกองพลทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อ “ค่ายพิบูลสงคราม” มีที่ตั้ง ว่า “ค่ายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และพระราชทานนามย่อว่า “ค่ายสิริกิติ์”