ปภ.แจ้ง 5 จังหวัด และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 65 เป็นต้นไป
วันนี้ (24 ส.ค. 65) กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในช่วงวันที่ 15 – 21 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำป่าสักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
จากการคาดการณ์ปริมาณฝน ในช่วงวันที่ 24 – 30 สิงหาคม 2565 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมจำนวน 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีจำนวน 355 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ และเพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือในช่วงถัดไป
กรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตราวันละ 34.56 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 43.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท – ป่าสักแล้ว จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร เมื่อรวมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้ระดับน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ แจ้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น โดยดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ภาพจาก ผู้สื่อข่าวชัยนาท