เกษตรกรลพบุรี รวมกลุ่มเก็บหัวไชเท้าส่งสู่ตลาด เฉลี่ยวันละ 80-100 ตันต่อวัน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดในเทศกาลตรุษจีน เผยนำที่ว่างแต่ละหมู่บ้านมาปลูกรวมกว่า 500 ไร่ สร้างรายได้อย่างงดงาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกร ชาวตำบลโคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี รวม 5 หมู่บ้านลุกขึ้นมาสร้างรายได้เพิ่มหลังจากเก็บเกี่ยวพืชไร่ และว่างเว้นจากการทำนา ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างของแต่ละหมู่บ้าน รวมกว่า 500 ไร่ มาปลูก “หัวไชเท้า” หรือ หัวผักกาด ที่เป็นพืชระยะสั้น ใช้ระยะเวลาการเพาะปลูกเพียง 50 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตสู่ตลาดได้ โดยเฉพาะก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน ในแต่ละปี พื้นที่แห่งนี้จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะปลูกหัวไชเท้าในลำดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อนำส่งต่อไปยังตลาดไทย และ ตลาดสี่มุมเมือง ทำให้ทุกแปลงปลูกต้องเพิ่มคนงาน เร่งเก็บผลผลิตส่งสู่ตลาด ส่งผลให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากขณะนี้ หัวไชเท้ากำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยแต่ละวันจะมีหัวไชเท้าออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละ 80 – 100 ตันต่อวัน ซึ่งต่างจากช่วงเวลาปกติ ที่ไม่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียง 30 ตันต่อวัน
เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่ จ.ลพบุรี หลังจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไปแล้ว หรือว่างเว้นจากการทำนา ในช่วงปลายฝนต้นหนาว เกษตรกรส่วนใหญ่ก็จะหันมาปลูกหัวไชเท้า เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า ถือเป็นการสร้างรายได้หลักอีกทางหนึ่งเป็นอย่างดี เนื่องจากผลผลิตของหัวไชเท้าที่ได้ในแต่ละปี ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอย่างมาก นอกจากนี้ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเอง ก็จะมารับจ้างถอนหัวไชเท้า แล้วนำมาล้าง ตลอดจนถึงขั้นตอนการแพ็กนำส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง นำส่งตลาดไทย หรือตลาดสี่มุมเมือง รายได้จะถูกจ้างเป็นชั่วโมงละ 30 บาท เฉลี่ยต่อวันโดยประมาณ 300 – 400 ต่อคน
ในส่วนของขั้นตอนการคัดหัวไชเท้ามีหัวที่ใหญ่และสวย จะถูกบรรจุลงแพ็ก เพื่อส่งขายที่ตลาดไทย และตลาดสี่มุมเมือง แต่ละถุงหนักถุงละ 10 กิโลกรัม มีราคาเฉลี่ย 100 – 300 บาท แล้วแต่ช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงเทศกาลก็จะมีราคาดีขึ้นมาก แต่ถ้าหัวไชเท้าที่มีขนาดเล็ก หรือไม่สวย จะนำส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็น กุยช่ายดอง โดยราคาเข้าโรงงานจะได้กิโลกรัมละ 2-3 บาท ภายในหนึ่งปี เกษตรกรจะสามารถปลูกหัวไชเท้าได้ 1-2 ครั้ง แล้วแต่จำนวนปริมาณน้ำที่มี และสภาพอากาศ เพราะหัวไชเท้าจะไม่สามารถปลูกได้ในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือมีฝนตกมากเกินไป
สำหรับคุณประโยชน์ของหัวไชเท้า มีสรรพคุณที่หลากหลายในการบำรุงและป้องกันโรค อาทิ เช่น ช่วยฟื้นฟูและบำรุงผิวพรรณ, การลดน้ำหนัก, ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย, แมลงสัตว์กัดต่อย สามารถบรรเทาอาการคัน ลดการเจ็บปวด, โรคดีซ่าน, โรคริดสีดวงทวาร, ความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ, หัวใจและหลอดเลือด, ความดันโลหิตสูง, แก้ไข้, โรคไต, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง และโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น