08 ต.ค. 2564 เวลา 6:57 น.
คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ระบุ อีก 24 วัน สิ้นสุดฤดูฝน ปี 2564 จับตาพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” และร่องมรสุมพาดผ่านช่วงวันที่ 8-14ต.ค.
ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำท่วม ฝนตก ฯเพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินสถานการณ์การดำเนินกิจการ การเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน
ล่าสุด คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. สรุปสถานการณ์น้ำประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เนื้อหาในรายงานสรุปว่า นับจากวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เหลืออีก 24 วัน จะสิ้นสุดฤดูฝน พร้อมกันนี้ยังมีการสรุปสถานการณ์เฝ้าระวังด้วยว่า
เฝ้าระวัง
ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นบริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ในหลายพื้นที่จากอิทธิพลของฝนที่ตกหนักในช่วงที่ผ่านมาและมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี แม่น้ำท่าจีน บริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม แม่น้ำลพบุรี บริเวณจังหวัดลพบุรี แม่น้ำชี บริเวณจังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม แม่น้ำมูล บริเวณจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี
เฝ้าระวัง
ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพรตราด และจันทบุรี เนื่องจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง พัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และด้านตะวันตกของประเทศ
เฝ้าติดตาม
พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยและเคลื่อนขึ้นชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน โดยจะถูกพายุอีกลูกนึงเหนียวนำ และ จะปะทะกับความกดอากาศสูง แล้วอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ขอให้เฝ้าติดตามการคาดการณ์อย่างใกล้ชิด
เฝ้าติดตาม
ปริมาณน้ำใน 4เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีน้ำใช้การน้อย เพียง 6,333 ล้าน ลบ.ม.
สรุปสถานการณ์ปัจจุบัน
พายุ
- พายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณทะเลจีนใต้ โดยมีแนวโน้มคลื่อนตัวไปทางด้านทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ โดยจะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยและเข้าใกล้ชายฝั่งของประเทศเวียดนามตอนบน
กลุ่มเมฆ
- มีกลุ่มเมฆฝนปกคลุมบางบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้
ปริมาณฝนสะสม 24ชั่วโมง
- ประเทศไทยมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางกระจายตัวในทุกภูมิภาคของประเทศ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดระนอง 168 มิลลิเมตร พังงา 122 มิลลิเมตร ชุมพร 120 มิลลิเมตร น่าน 86 มิลลิเมตร อุบลราชธานี 74 มิลลิเมตร ระยอง 72 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 65 มิลลิเมตร สุราษฎร์ธานี 62 มิลลิเมตร แม่ฮ่องสอน 53 มิลลิเมตร พัทลุง 53 มิลลิเมตร ตรัง 51 มิลลิเมตร ประจวบคีรีขันธ์ 49 มิลลิเมตร กระบี่ 44 มิลลิเมตร กาญจนบุรี 41 มิลลิเมตร ราชบุรี 41 มิลลิเมตร พิษณุโลก 39 มิลลิเมตร กรุงเทพมหานคร 39 มิลลิเมตร ลำปาง 39 มิลลิเมตร และสตูล 38 มิลลิเมตร
ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35แห่งทั่วประเทศ
- อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 48,797 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 69% ของความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,254 ล้านลูกบาศก์เมตร
ระดับน้ำในแม่น้ำสายสำคัญ
- ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือมี ระดับน้ำน้อยถึงระดับน้ำปานกลาง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระดับน้ำปานกลางถึงระดับน้ำมาก
- ภาคตะวันออกและภาคกลางมีระดับน้ำปานกลางถึงระดับน้ำมาก
- ภาคใต้มีระดับน้ำน้อยถึงระดับน้ำปานกลาง
และพบน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำยม จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร คลองเกรียงไกร จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาทและสิงห์บุรี แม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม
แม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์และสระบุรี คลองเจ้าเจ็ด คลองบางหลวง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี คลองพระปรง จังหวัดสระแก้ว แม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และอุบลราชธานี แม่น้ำชี จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น และมหาสารคาม ลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น คลองละงู คลองฉลุง จังหวัดสตูล
ช่วงวันที่ 8 -10 ต.ค. 64
- ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” บริเวณทะเลจีนใต้มีแนวโน้มเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยและเข้าใกล้ชายฝั่งของประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทยมีกำแรงขึ้นส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักได้ในบางแห่งบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และด้านตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพรตราด และจันทบุรี
ช่วงวันที่ 11 -14 ต.ค. 64
- ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และประเทศไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักได้ในบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และด้านตะวันตกของประเทศ
คาดการณ์คลื่น
- ช่วงวันที่ 8 -10 ต.ค. 64 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันอ่าวไทยและประเทศไทยมีกำลังแรงส่งผลให้บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1.0 -1.5เมตร ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 1.0 -2.0 เมตร
ที่มา คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ