สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
เมืองลพบุรี นับเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ติดต่อกันมานับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ปี จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี อาทิ การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่อายุ 4,000 – 2,000 ปี ที่บ้านโคกเจริญ และโครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด อายุ 2,800 – 2,500 ปี ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่เป็นต้น
สมัยประวัติศาสตร์ ตาม‘พงศาวดารเหนือ’ ได้กล่าวไว้ว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 11-15พระยากาฬวรรณดิศราชได้ให้พราหมณ์ยกพลมาสร้างเมืองละโว้หรือตามภาษาบาลีว่า “ลวะปุระ” ซึ่งตรงกับสมัยทวารวดี ละโว้ในยุคนั้นมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านศิลปวัฒนธรรมแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 ละโว้ตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการของอาณาจักรเขมรเป็นครั้งคราวจนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 อาณาจักรเขมรเริ่มอ่อนแอลง ทำให้รัฐต่างๆ ที่เคยอยู่ใต้อำนาจแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้ง ‘เมืองละโว้’ ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏหลักฐานว่าเมืองละโว้ หรือลพบุรีน่าจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทองเคยครองราชย์มาก่อนที่จะย้ายไปสถาปนาราชอาณาจักรอยุธยา และในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้เองที่ลพบุรีถือว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้สถาปนาเป็นราชธานีที่สอง จากนั้นหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลพบุรีก็ขาดความสำคัญลงมากจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดสถาปนาเมืองลพบุรีเป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง จึงเห็นได้ว่าเมืองลพบุรีมีความสำคัญติดต่อกันมายาวนานนับพันปี
จากการที่ลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในอดีตมายาวนานดังกล่าว ทำให้ลพบุรีมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่าอันเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์และยุคสมัยต่างๆ มากมายซึ่งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษามาตราบเท่าทุกวันนี้ รวมทั้ง “พระเครื่องและพระบูชา”
ลพบุรีเป็นจังหวัดที่มี‘พระกรุเก่า’ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสะสมในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องมากมาย ทั้งพระหูยาน พระร่วงยืนหลังรางปืน พระนาคปรก กรุวัดปืน ฯลฯ
หลวงพ่อจุก”ก็นับเป็นหนึ่งในพระกรุเก่าของดีของลพบุรี ซึ่งมีอายุในราว 800 ปี พุทธลักษณะลงตัวสมส่วนแลดูสง่างาม แต่พุทธศิลปะกลับไปคล้ายคลึงกับ‘พระพุทธรูปแบบลังกา’ ซึ่งแตกต่างไปจากพระสกุลลพบุรีอื่นๆ อย่างสิ้นเชิงครับผม
เหตุที่ หลวงพ่อจุก มีพุทธศิลปะแบบลังกา นับเนื่องตามประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่โบราณ สยามประเทศมีความสัมพันธ์ทางศาสนาอย่างต่อเนื่องกับประเทศลังกา และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริงมาโดยตลอด เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนาลัทธิหินยานแบบลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้ามาถึงสยามประเทศ มีการส่งพระภิกษุไทยไปศึกษาพระธรรมวินัยจากลังกา รวมทั้งได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาเข้ามาสั่งสอนศาสนามากมาย ทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย จนถึงลพบุรี
จังหวัดลพบุรียังเคยเป็นที่ตั้งของวัดลังกาอยู่ถึง 2 วัด คือ วัดลังกาและวัดสิงหล แต่ ณ ปัจจุบันไม่หลงเหลือซากปรักหักพังให้เห็นแล้ว ดังนั้น พุทธศิลปะของ‘พระพุทธรูปและพระเครื่องลพบุรี’ จึงได้รับอิทธิพลจากลังกามาผสมผสานอยู่ด้วย แต่สำหรับ “หลวงพ่อจุก” แล้ว จะมีพุทธศิลปะเป็นแบบลังกาโดยตรง จึงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างโดยพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกา และที่สำคัญพระภิกษุสงฆ์ชาวลังกาที่นิมนต์มาเผยแผ่ศาสนาในสมัยนั้นเป็นพระฝ่ายอรัญวาสผู้มีพุทธาคมแก่กล้า และมีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ “หลวงพ่อจุก”เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือในพุทธคุณอันเข้มขลังในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเป็นที่ปรากฏประจักษ์ในด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด และแคล้วคลาด
หลวงพ่อจุก ปรากฏค้นพบจากกรุและเจดีย์รายทั่วไปในจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะที่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อดิน ที่เป็นเนื้อชินมีน้อยมาก เป็นพระมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนฐานกว้างประมาณ 3.5 ซม. สูงประมาณ 6.5 ซม. เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่งแสดงปางสมาธิขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย เหนือพุทธบัลลังก์ฐานเขียงซึ่งมีทั้งฐานสูงและฐานเตี้ย พระเกศจิ่มป้านใหญ่คล้าย “จุก” อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญและนำมาขนานนามองค์พระ พระเกศาเป็นเส้นและเวียนรอบพระเศียร พระพักตร์กลมป้อมอิ่มเอิบ ปรากฏรายละเอียดชัดเจนทั้งพระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ พระกรรณยาวจรดพระอังสา พระอังสากลมมนสมส่วน พระอุระแลดูผึ่งผายงามสง่า พระวรกายเว้าแบบตัววี (V) เส้นจีวรและสังฆาฏิคมชัดเจน พระหัตถ์ขวาซ้อนบนพระหัตถ์ซ้ายอยู่เหนือพระเพลา
ด้วยพุทธลักษณะเฉพาะอันสง่างาม และพุทธคุณเป็นเลิศปรากฏ ทำให้ “หลวงพ่อจุก ลพบุรี” กลายเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนและเป็นที่นิยมสะสมในแวดวงนักนิยมพระเครื่องอย่างกว้างขวาง โดยไม่เกี่ยงว่าองค์พระจะดูค่อนข้างใหญ่ไปสักหน่อย ซึ่ง ณ ปัจจุบันหาดูหาเช่าของแท้ยากเอามากๆ ครับผม