แม้นว่าพระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พจน์ พหลโยธิน ปีกทหารคณะราษฎร จะถึงแก่อสัญกรรมไปกว่า 74 ปีแล้ว แต่ภารกิจเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยเมื่อปี 2475 เชื่อว่ายังคงเป็นเป็นแรงบันดาลใจแก่ใครหลายคนโดยเฉพาะเหล่าคนรุ่นใหม่ผู้ฝักใฝ่ในความเท่าเทียมไม่มากก็น้อย ขณะที่ข้าราชการและราษฎรในอดีตก็มีการสร้างอนุสรณ์สถานตามสถานที่ต่างๆ เพื่อระลึกถึงเจ้าของสโลแกน “ชาติเสือไว้ลาย ชาติชายไว้ชื่อ” ผู้นี้
เนื่องในวันที่ 29 มี.ค. 65 ถือเป็นวันครบรอบ 134 ปี ชาตกาล พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกฯ 5 สมัย (วันเกิดพระยาพหลฯ 29 มี.ค. 2430) ประชาไทชวนส่อง-เช็กสถานภาพปัจจุบัน 6 อนุสรณ์สถานของพระยาพหลฯ ‘ว่ายังอยู่-เปลี่ยนชื่อ-หรือจากไปแล้ว’ ท่ามกลางกระแสความพยายามทำให้ความทรงจำคณะราษฎรถูกทำให้เลือนหาย
1. ถนนพหลโยธิน
สถานะปัจจุบัน : ยังคงอยู่
สำหรับถนนพหลโยธิน หรืออีกชื่อคือ ทางหลวงหมายหลวงหมายเลข 1 เป็นถนนที่เชื่อมระหว่าง กรุงเทพฯ ไปจังหวัดเชียงราย ผ่านปทุมธานี อยุธยา สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง และเชียงราย รวมระยะทาง 1,007 กิโลเมตร
แต่เดิมถนนสายนี้ถูกขนานนามว่า ถนนประชาธิปไตย เนื่องจาก เมื่อ 21 ต.ค. 2476 กรมยุทโยธาทหารบก รับผิดชอบสร้างถนนจากสนามเป้า หรือสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ไปยังสนามบินดอนเมือง เป็นระยะทาง 22 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับเหตุการณ์กบฎบวรเดช ยกไพร่พลลงมาที่ทุ่งดอนเมือง เพื่อกดดันให้ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เปลี่ยนการปกครองจากประชาธิปไตยหมุนกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่กองทัพคณะราษฎรจะสามารถเอาชนะ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช’ จะสามารถเอาชนะเมื่อ 25 ต.ค. 2476 และพระองค์เจ้าบวรเดช ต้องระหกระเหินออกนอกประเทศ และจึงมีการเรียกถนนสายนี้ว่า ‘ถนนประชาธิปไตย’
ต่อมา เมื่อปี 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ออกประกาศนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 ธ.ค. 2493 ให้มีการตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดิน และสะพานขนาดใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่ทำความดีแก่ประเทศชาติ โดยประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 67 ตอนที่ 67 หน้า 6377-6389 ลงวันที่ 12 ธ.ค. 2493 ระบุว่า ทางหลวงแผ่นดินสายประชาธิปไตย ให้ขนานนามว่า “ถนนพหลโยธิน” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระยาพหลฯ จนถึงปัจจุบัน
เส้นทางถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ภาพจาก Wikipedia, RJFF)
2. ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี
สถานะปัจจุบัน : เปลี่ยนชื่อเป็นค่ายภูมิพล
สำหรับค่ายภูมิพล แต่เดิมชื่อว่า ค่ายพหลโยธิน สืบเนื่องจากหัวหน้าทหารปืนใหญ่ มีการวางโครงการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี เพื่อเป็นแหล่งศึกษาปืนใหญ่สนาม ปืนใหญ่อากาศยาน และนักบินทหารบก และเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2495 รัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อค่ายนี้ว่า “ค่ายพหลโยธิน” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลฯ
อย่างไรก็ตาม หลังมีการเปลี่ยนรัชสมัยเป็นรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเปลี่ยนแปลงนาม ค่ายทหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเปลี่ยนแปลงนามค่ายทหาร โดยพระราชทานนามค่ายทหารแก่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ เดิมชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” มีที่ตั้ง ณ ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ว่า “ค่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานนามย่อว่า “ค่ายภูมิพล” นอกจากนี้ เมื่อประมาณ เม.ย. 63 มีการทุบซุ้มประตู และสร้างอันใหม่ขึ้นมาทดแทน
(ซ้าย) ซุ้มค่ายพหลโยธิน เมื่อเดือน พ.ค. 60 (กลาง) ซุ้มค่ายเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 63 ซึ่งเริ่มทำการรื้อถอน ส่วนชื่อ “ค่ายพหลโยธิน” คาดว่าหายไปช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ขวา) ภาพวันที่ 1 เม.ย.63 ซุ้มถูกรื้อแล้ว
ซุ้มประตูใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาแทนของเดิม (ภาพเมื่อ 20 ม.ค. 65 ที่มา เฟซบุ๊ก ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล)
ภาพจาก Google Map ปี 2557 ซึ่งปรากฏภาพซุ้มประตูแบบเก่าอยู่
3. อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี
สถานะปัจจุบัน : ถูกย้ายออก
อนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี สร้างขึ้นในสมัยของ พล.ต.สาธร กาญจนารักษ์ ผู้บัญชาการศูนย์ทหารปืนใหญ่ในช่วงนั้น ซึ่งมีพิธีเปิดตัวอนุสาวรีย์จัดขึ้นเมื่อ ต.ค. 2503
แต่เมื่อปลายปี 2562 สำนักข่าว บีบีซี ไทย รายงานโดยอ้าง พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายคนที่ 4 ของพระยาพหลฯ ให้ข้อมูลว่า ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จะจัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ เพื่อที่จะทำการย้ายอนุสาวรีย์ทั้งออกในเดือน ม.ค. โดยยังไม่ทราบถูกนำไปจัดเก็บที่ใด และอย่างใด
ต่อมา เมื่อ ม.ค. 2563 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจ พบว่า อนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ได้อันตรธานหายไปจากหน้าลานหน้าสโมสรนายทหาร ค่ายพหลโยธินแต่อย่างใด
ภาพ (บน) อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี และ (ล่าง) ถ่ายเมื่อ ม.ค. 63 ปรากฏว่า อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ หายไปแล้ว
สุดท้าย เมื่อช่วงต้นปี 2565 ว่าข่าวประชาสัมพันธ์กองทัพบก ระบุว่า กองทัพบกมีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 มาประดิษฐานภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ ในตำแหน่งเดียวกับที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เคยตั้งอยู่ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมประมาณ 60 ล้านบาท
พิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ในตำแหน่งเดียวกับที่อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เคยตั้งอยู่
4. อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ณ โรงพยาบาลพระยาพหลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี
สถานะปัจจุบัน : ยังคงอยู่
โรงพยาบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในบ้านบ่อ ถ.แสงชูโต ต.ปากแพรก อ.เมือง โรงพยาบาลแห่งนี้สร้างขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2494 และเสร็จในปี 2496 นอกจากนี้ มีการเชิญชวนข้าราชการ และประชาชน ร่วมสมทบทุนสร้างโรงพยาบาล และอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณงามความดีของพระยาพหลฯ ทั้งแก่ประเทศชาติ และจังหวัดกาญจนบุรี
อนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ที่ รพ.นี้เป็นลักษณะเต็มตัว สภาพปัจจุบันยังอยู่ดี ซึ่งปรากฏจากภาพในแพลตฟอร์ม ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘โรงพยาบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา’ ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ทาง รพ.มีการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลครบรอบวันอสัญกรรม ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน พลเอกพระยาพหลฯ
5. อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ณ โรงงานกระดาษ จ.กาญจนบุรี
สถานะปัจจุบัน : ยังคงอยู่
โรงงานกระดาษ จ.กาญจนบุรี สร้างโดย พระยาพหลฯ เมื่อราวปี พ.ศ. 2476 ตั้งอยู่ที่ ถนนแสงชูโต ทางทิศใต้ ตำบลปากแพรก อ.เมือง โดยโรงงานนี้ถือเป็นโรงงานกระดาษแห่งแรกในไทย เพื่อใช้ในระบบเอกสารราชการ และจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก ภายหลัง ข้าราชการโรงงานกระดาษ และชาวกาญจนบุรี ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ขึ้นที่หน้าโรงงานกระดาษ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะและระลึกถึงพระยาพหลฯ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานแห่งนี้ สภาพในปัจจุบัน ตัวอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ยังคงอยู่ แม้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
ภาพอนุสาวรีย์ พระยาพหลฯ ที่โรงงานกระดาษ จ.กาญจนบุรี (ที่มา ศรัญญู เทพสงเคราะห์)
แผนที่ ‘Street View’ จาก Google Map ประตูทางเข้าด้านหน้าโรงงานกระดาษไทย จ.กาญจนบุรี
6. อนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ณ โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง
สถานะปัจจุบัน : ยังคงอยู่
“โรงงานน้ำตาลไทยลำปาง” ที่ ต.เกาะคา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ถือเป็นโรงงานน้ำตาลแห่งแรกในประเทศไทย โดยมีพระยาพหลฯ เป็นเจ้าของไอเดียในการตั้งโรงงานแห่งนี้
หนังสือ 111 ปี พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” อ้างอิงคำปราศรัยของ พระยาพหลฯ เมื่อ 2485 ระบุถึงเหตุผลที่ตั้งโรงงานน้ำตาล เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำตาลเองได้ ลดการนำเข้าจากภายนอก ในขณะเดียวกัน ก็สามารถส่งขายน้ำตาลไปต่างประเทศ
สำหรับสาเหตุที่มาตั้งโรงงานที่อำเภอเกาะคา จ.ลำปาง พระยาพหลฯ ระบุว่า เนื่องจากที่นี่มีคนไทยปลูกต้นอ้อยเป็นจำนวนมาก และสภาพอากาศเหมาะแก่การปลูกต้นอ้อย จึงเห็นว่าพื้นที่นี้เหมาะแก่การตั้งโรงงาน
โรงงานน้ำตาล เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 โดยมีบริษัทสโกด้าเวอรค์ แห่งประเทศเชคโกสโลวาเกีย เป็นผู้สร้างและติดตั้งเครื่องจักร เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและทดลองจนมั่นใจว่าใช้ได้ จึงเริ่มทำพิธีเปิดหีบอ้อยเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ 18 ธ.ค. 2485
สำหรับอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ก่อสร้างเมื่อปี 2505 โดยมีพนักงานในโรงงาน พ่อค้าน้ำตาล และเกษตรกร ร่วมกันออกทุนทรัพย์ โดยลักษณะของอนุสาวรีย์ เป็นตัวของพระยาพหลฯ ขนาดครึ่งตัวเท่านั้น
ก่อนที่ในปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่ 50 ของการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลไทยจังหวัดลำปาง ทางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม เห็นสมควรให้มีการสร้างอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ เสียใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นขนาดเต็มตัว เพื่อระลึกบทบาทของพระยาพหลฯ ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาลในไทย โดยอนุสาวรีย์ใหม่นี้สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2535 และนำมาประดิษฐานอยู่ด้านหน้าโรงงานน้ำตาล
มีผู้ให้ความรู้ระบุว่า โรงงานน้ำตาลไทย ใน อ.เกาะคา ปัจจุบันไม่ได้ทำการผลิตน้ำตาลอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปที่ จ.กำแพงเพชร ที่นี่จึงเป็นแต่เพียงโรงเก็บสินค้าเท่านั้น
ขณะที่ปัจจุบันของอนุสาวรีย์ยังคงอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยมีหลักฐานจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก “น้องสะเปา หักป็อกกี้ได้ด้วยมือเปล่า” ถ่ายภาพอนุสาวรีย์เมื่อ 14 ก.พ. 65 ซึ่งตรงกับวันครบรอบวันอสัญกรรม ฯพณฯ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา มีประชาชนนำพวงมาลามาเคารพสักการะอนุสาวรีย์ เพื่อระลึกถึงพระยาพหลฯ ในวันที่ล่วงลับไปแล้ว