ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยเขตสุขภาพที่ 4 จัดระบบฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผ่านการทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด และฝังเข็ม จนกลับมาใช้ชีวิตได้ ช่วยลดต้นทุนการขาดงานและเจ็บป่วยถึง 100 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน พร้อมให้ทุกจังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมจัดเตรียมแผนรับมือช่วงกันยายน-ธันวาคมนี้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงาน “เปลี่ยนภาระเป็นพลังสังคม Intermediate Care 2564” เป็นระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ผ่านพ้นวิกฤตและมีอาการคงที่ของเขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย 8 จังหวัดคือ นนทบุรี นครนายก สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี ในการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่พ้นระยะเฉียบพลัน และสภาวะผู้ป่วยคงที่ โดยจัดบริการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด หรืออรรถบำบัด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหว ทรงตัว ดำเนินกิจวัตรประจำวัน หรือพูดสื่อสารได้ รวมถึงมีบริการฝังเข็มกระตุ้น และประเมินความสามารถการดำเนินชีวิตประจำวันทุก 1-2 เดือน จนครบ 6 เดือน พบว่าช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้ ช่วยลดต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการลดต้นทุนที่เกิดจากการขาดงานและความเจ็บป่วยได้ถึง 162,664 บาทต่อคนต่อปี รวมแล้วประมาณ 100 ล้านบาทต่อไตรมาส
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้ให้จังหวัดเสี่ยงสูงและเสี่ยงปานกลางที่จะเกิดอุทกภัย เตรียมแผนรับเหตุอุทกภัย ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 โดยให้จัดทำและทบทวนใน 4 แผน คือ แผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน แผนประคองกิจการ เพื่อให้โรงพยาบาลให้บริการต่อไปได้ แผนปฏิบัติการควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และแผนการจัดการด้านทรัพยากร โดยจังหวัดเสี่ยงสูงจะมีการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้สามารถดูแล บริการ รักษาพยาบาล และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนหากเกิดเหตุน้ำท่วมได้ทันท่วงที