วันที่ 21 มี.ค 65 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมที่มีความชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศเกิดฝนฟ้าคะนอง โดยในช่วงกลางวันมีอากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงกลางสัปดาห์เป็นต้นไป มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปะทะกับอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย สภาพอากาศแบบนี้จะส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีพายุลูกเห็บตามมาอีกด้วย ซึ่งเมื่อวานนี้ (20 มี.ค.65) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ได้ติดตามสภาพอากาศและขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงโดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (บจ.7)-ALPHA JET เพื่อช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ในช่วงเวลา 15.10-15.35 น. จำนวน 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ อ.เมืองปาน จ.ลำปาง และบริเวณ อ.งาว จ.ลำปาง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ทั้งหมด จำนวน 35 นัด ซึ่งหลังปฏิบัติการ พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ อ.เมืองปาน อ.งาว จ.ลำปาง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ช่วงหลังปฏิบัติการ (15.35 – 18.35 น.)
ขณะเดียวกัน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอีก 5 หน่วยฯ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าไม้ของ จ.ตาก กาญจนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ อุดรธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา
สำหรับการตรวจสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในวันนี้จากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่าพื้นที่โดยส่วนใหญ่ มีเมฆชั้นกลางปกคลุมหนาแน่นเต็มท้องฟ้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตัวของเมฆ เว้นแต่ในภาคเหนือ มีสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จํานวน 2 หน่วยปฏิบัติการ ดังนี้
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่
– หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.แพร่
อย่างไรก็ตาม หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อื่นๆ จะยังคงติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขต่อการปฏิบัติการ จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำน้อย รวมไปถึงภารกิจยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บในบริเวณพื้นที่ได้รับผลกระทบทันที ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account TikTok : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100