“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ผืนป่าที่เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟู ภายใต้ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ ชุมชน และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย กรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ 6,971 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้พลิกฟื้นจากป่าเขาหัวโล้นสู่ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการฟื้นฟูป่าให้กับเด็ก เยาวชน สถานศึกษา และผู้ที่สนใจ
โดยเมื่อเร็วๆนี้ ค่าย SMART-i CAMP นำเด็กๆ อายุ 6-14 ปี ลงพื้นที่ศึกษาและทำกิจกรรมที่ “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โดยมี นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กรมป่าไม้ และนายอนุชิต ศรีสุระ คณะทำงานโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ การเพาะกล้า กระบวนการฟื้นฟูป่า
“นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป ” หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ประสบการณ์จากกิจกรรมภาคปฏิบัติที่น้องๆ ค่าย SMART-i CAMP ได้รับ นอกจากเรียนรู้รูปแบบการปลูกป่าในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 4 รูปแบบ ตามสภาพของพื้นที่ การฟื้นฟูป่า การเพาะกล้า เด็กๆยังได้ร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ อาทิ การสร้างฝายชะลอน้ำ การทำ Seed Ball ที่ถูกตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ กิจกรรมยิง Seed Ball เดินเทรลศึกษาระบบนิเวศป่าในเวลากลางคืน ฯลฯ โดยเด็กๆให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการปลูกป่า การทำ Seed Ball และสัตว์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่
ด้าน ” นายศิริภพ โสมาภา” หรือคุณครูแก๊ป ผู้ก่อตั้ง SMART i -Academy กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดค่าย 7 Habits for teens By SMART-i Camp เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งรอบๆตัว รวมถึงทีม Trainer ครูพี่เลี้ยง เพื่อนๆ พี่ๆ น้อง ๆในค่าย เด็กๆได้เรียนรู้จาก การตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ ผ่านการลองผิด ลองถูก ซึ่งกิจกรรมลงพื้นที่ที่เขาพระยาเดินธงในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดค่ายฯ ที่ถือเป็นแบบทดสอบกำลังใจ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักผนึกพลังผสานความต่าง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเด็กๆต้องช่วยกันยกก้อนหินมาวางเสริมความแข็งแรงของฝาย กิจกรรมเดินเทรลในเวลากลางคืน ที่สำคัญ คือ กระบวนการถอดบทเรียน ด้วยการชวนเด็กๆคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากบทเรียนที่น่าประทับใจ
สำหรับโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ คือ กรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และซีพีเอฟ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม บริเวณผืนป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งดำเนินการไปแล้วรวม 6,971 ไร่ เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2559 ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564-2568) เป็นผืนป่าต้นแบบให้กับผืนป่าอื่นๆของประเทศ จากความสำเร็จในการปลูกป่า 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชนที่สนใจ และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการฟื้นฟูป่า และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
นอกจากนี้ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของโครงการ และสอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) บริษัทฯ ต่อยอดสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนกิจกรรมของชุมชน คือ โครงการปลูกผักวิถีธรรมชาติ ส่งเสริมชุมชนปลูกผักปลอดสารเคมี และจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามภูมิปัญญาชุมชน และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อน คนในชุมชนผลิตอาหารปลอดภัยไว้บริโภค สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสนับสนุนการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน