คพ.ชี้ ปี 64 ร้องเรียนมลพิษได้รับการแก้ไขเพิ่มขึ้น เหตุรุกตรวจแหล่ง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากภารกิจ คพ. ในการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ ในปี 2564 คพ. ได้เข้าตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤตคุณภาพน้ำ เช่น คลองแสนแสบและคลองสาขา คลองแม่ข่า คลองประดู่ ลุ่มน้ำแม่กลอง คลองเจดีย์บูชา จังหวัดนครปฐม แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก เป็นต้น รวมจำนวนทั้งสิ้น 977 แห่ง
แหล่งกำเนิดมลพิษที่น้ำทิ้งมีค่าเป็นไปตามมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 532 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 57.76 และมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่น้ำทิ้งมีค่าเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 389 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42.24 คพ.ใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่น้ำทิ้งมีค่าเกินมาตรฐาน โดยการออกคำสั่งทางปกครองให้จัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือซ่อมแซมระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับการดำเนินการแก้ไขเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษ ปี 2564 คพ. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนด้านมลพิษทั้งหมด 706 เรื่อง (ลดลงจากปี 2563 จำนวน 79 เรื่อง) ดำเนินการแล้วเสร็จ 557 เรื่อง (ร้อยละ 79) ปัญหามลพิษที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด คือ มลพิษทางอากาศ (ร้อยละ 84) รองลงมาคือ น้ำเสีย (ร้อยละ 10) และมูลฝอยสิ่งปฏิกูลและของเสียอันตราย และอื่นๆ (ร้อยละ 6) โดยแหล่งที่มาของปัญหาเรื่องร้องเรียนมากที่สุด
ยังคงเป็นโรงงาน (ร้อยละ 43) รองลงมา คือ สถานประกอบการ (ร้อยละ 32)
นายอรรถพล กล่าวว่า เพื่อให้ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหามลพิษเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเบ็ดเสร็จ คพ. จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม(ศปก.พล.) ขึ้น เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการติดตาม ตรวจสอบ ดำเนินการตามกฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยมลพิษทั้งน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ กลิ่นเหม็น เสียงดัง ขยะพิษต่างๆ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม และการนำเข้าสิ่งผิดกฎหมายที่ก่อมลพิษจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นวงกว้าง
โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป่าไม้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น
ในปี 2564 ศปก.พล. ได้ตรวจสอบแก้ไขและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เช่นเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมของบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ การลักลอบฝังกลบกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ของบริษัท เอกอุทัย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่เอกชน ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี การรั่วไหลและแพร่กระจายมลพิษของโรงงานบริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง เป็นต้น
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่