ในวันที่สามของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 จำนวน 11 คน ส.ส. ก้าวไกล อภิปรายเปิดข้อมูลทุจริตการก่อสร้างของกองทัพในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล็อกผลผู้ชนะการประมูล ยอมปล่อยให้ผู้รับเหมาเริ่มทำงานก่อนประมูล
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยชู 3 ประเด็น ประกอบด้วย จงใจปล่อยปละละเลยให้เกิดเครือข่ายทุจริตในกองทัพอย่างกว้างขวาง สร้างความเสื่อมเสียกับพระเกียรติยศในโครงการเทิดพระเกียรติ มีจิตสำนึกเผด็จการและจงใจทำลายการปกครอง อุดมการณ์ ระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง
เธอได้ยกตัวอย่างและตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการคัดเลือกผู้รับเหมาดำเนินโครงการต่าง ๆ
โครงการของกองทัพบกคือ งานปรับปรุงภูมิทัศน์เตรียมการและสนับสนุนการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวีรย์ ร. 9 มาประดิษฐาน ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่หรือค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ใช้วิธีการคัดเลือกและผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ประกาศผู้ชนะการประมูลในวันที่ 23 เม.ย. 2564 ด้วยการเสนอราคามา 1,173,000 บาท จากราคากลาง 1,200,000 บาท ที่น่าสนใจคือผู้รับเหมาเข้าไปพื้นที่ก่อนที่จะมีการประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลนานถึง 15 เดือน
ส่วนโครงการที่สองคือ โครงการสร้างแท่นประดิษฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการคัดเลือก โดยผู้ชนะการประมูลมาด้วยการเสนอราคา 59,873,500 บาท เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมพบว่ามีการปรับพื้นที่ก่อนบริษัทจะไปเซ็นสัญญาล่วงหน้า 4 เดือน
นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือหลังใหม่ พร้อมรื้อถอนบ้านพักหลังเดิมวงเงิน 65 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับเหมาได้เข้าทำการสร้างคฤหาสน์หลังใหม่ให้กับผู้บัญชาการกองทัพเรือล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนที่จะรู้ผลว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูลแท้จริง
“ได้มีการแอบล็อกผู้ชนะการประมูลกันก่อนเรียบร้อยแล้ว แบ่งกันล่วงหน้าว่างานนี้เป็นของใคร งานนั้นเป็นของใคร จากนั้นก็จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลไปตามลำดับชั้น แล้วค่อยทำการการประมูลหลอก ๆ กันอย่างที่เห็น” เธออภิปราย
ปมรื้อถอนสัญลักษณ์ประชาธิปไตย
ส.ส. พรรคก้าวไกล รายนี้ยังอภิปรายว่า ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ. ประยุทธ์ มีความพยายามลบประวัติศาสตร์ ด้วยการรื้อถอนทำลายสัญลักษณ์การสถาปนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ โดยยกตัวอย่าง ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงหน้าบันที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้าหลังเก่า จ.เชียงราย จากเดิมที่เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนเป็นครุฑ ระหว่างปี 2559-2560
- หมุดคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้าหายไป และถูกแทนที่ด้วย “หมุดหน้าใส” ในเดือน เม.ย. 2560
- อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช หายไปจากวงเวียนหลักสี่ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ทั้ง ๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
- อนุสาวรีย์พระยาพหลพลพยุหเสนาและอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ หรือค่ายพหลโยธิน จ.ลพบุรี ถูกรื้อถอนไปเมื่อเดือน ม.ค. 2563
- อนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม หน้าสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถ.วิภาวดีรังสิต หายไปเช่นกันในเดือน ม.ค. 2563
นางอมรัตน์ ยังระบุอีกว่า ไม่นานมานี้ในเดือน ก.ค. 2565 มีความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อสะพานพิบูลสงคราม ใกล้กับอาคารรัฐสภาในกรุงเทพฯ ด้วยการใช้แผ่นป้ายอะคริลิคมาปิดทับชื่อสะพานด้วยข้อความ “สะพานท่าราบ” ซึ่งเธอเชื่อว่ามาจากชื่อของ “ดิ่ง ท่าราบ” ชื่อเดิมของพระยาศรีสิทธิสงคราม หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์กบฏบวรเดช
รัฐบาลใช้สปายแวร์คุมคามผู้เห็นต่างทางการเมือง
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาอาวุธไซเบอร์ที่ทันสมัยมาจัดการกับประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง โดยใช้ทรัพยากรของแผ่นดินและภาษีประชาชน นอกจากการใช้อุปกรณ์ติดตามและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารก่อนหน้านี้
เขายกตัวอย่าง การใช้สปายแวร์เพกาซัสล้วงข้อมูลและสอดแนมกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง 30 รายชื่อ ที่เปิดเผยโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ร่วมกับ ดิจิทัลรีช (DigitalReach) และเดอะซิตีเซนแล็บ (The Citizen Lab) ไปแล้วก่อนหน้านี้
สำหรับสปายแวร์ดังกล่าวสร้างขึ้นโดยบริษัทเอกชนของอิสราเอล NSO Group เป็นเสมือน อาวุธสงครามประเภทหนึ่งขายให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น โดย NSO Group อ้างว่าใช้เพื่อติดตามเฝ้าระวังการก่อการร้าย เพื่อทลายเครือข่ายค้ามนุษย์ เครือข่ายค้ายาเสพติดตลอดจนอาชญากรรมต่าง ๆ โดยสปายแวร์ดังกล่าวยังสามารถล้วงข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือได้ในทุกแอปพลิเคชันทั้งที่เข้ารหัสได้และไม่ได้ ดูประวัติการโทรเข้า-ออก สามารถเรียกข้อมูลได้ทั้งแบบย้อนหลังและข้อมูล ณ ปัจจุบัน (real time) โดยเฉพาะโทรศัพท์บนมือถือของแอปเปิล
“เพกาซัสจึงไม่ต่างจากอาวุธสงครามที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 รัฐบาลอิสราเอลถอนชื่อประเทศไทยในกลุ่มประเทศที่อนุญาตให้ใช้สปายแวร์ดังกล่าว จนนำมาถึงการเปิดเผยเรื่องนี้ของไอลอว์และพันธมิตรเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ค.)
นอกจากนี้ เดอะซิตีเซนแล็บยังพบว่ามี 3 หน่วยงานราชการไทยใช้สปายแวร์อีกตัวคือ Circles ได้แก่ หน่วยข่าวกรองกองทัพบก ใช้สปายแวร์นี้ตั้งแต่ปี 2562 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตั้งแต่ปี 2557 และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ตั้งแต่ปี 2559
เมื่อตรวจสอบรายชื่อในกองบัญชีกลางพบ 9 โครงการจ้างบำรุงรักษาชุดค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังกล่าว ด้วยงบประมาณ 61.4 ล้านบาท ระหว่างปี 2558-2563 ของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
ขณะที่ เมื่อ 20 ก.ค. นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดเลย จากพรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในประเด็นดังกล่าว โดยนายชัยวุฒิตอบกลับมีจริงว่า
“เรื่องสปายแวร์ที่เข้าไปดักฟัง เข้าไปสิงอยู่ในตัวเครื่องมือถือ แล้วก็จะรู้ เหมือนดูหน้าจอ ดูการพูดการคุยการส่งข้อความทั้งหมด อันนี้ผมรู้ว่ามีจริง ระบบนี้มีจริง เราเคยศึกษาอยู่ แต่ทางกระทรวงดิจิทัลไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้ เพราะเราไม่มีอำนาจ”
เปิด 5 รายชื่อใหม่ผู้ที่ถูกสอดแนมโดยสปายแวร์
ในการอภิปรายในวันนี้ นายพิจารณ์ยังได้เปิดเผยรายชื่อนักการเมือง 5 คนที่ถูกโจมตีโดยสปายแวร์เพกาซัส นอกจาก 30 รายชื่อนักกิจกรรม นักวิชาการ และกลุ่มเอ็นจีโอที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
- น.ส. เบนจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ใช้ตำแหน่งของตัวเองประกันตัวนักกิจกรรมที่ต้องหาคดีทางการเมืองมากที่สุด โดยพบว่าถูกโจมตีครั้งแรกหนึ่งวันหลังจากที่อภิปรายไม่ไว้วางใจงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
- นายปกรณ์ อารีกุล ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.นครศรีธรรมราช ถูกโจมตี สองครั้ง 7 ก.ค. และ 17 ส.ค. 2564 เป็นนักกิจกรรมที่รณรงค์ให้โหวต “โน” ในระหว่างการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560
- นายชัยธวัช ตุลานนท์ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ถูกโจมตีหนึ่งครั้ง วันที่ 20 ต.ค. 2563
- น.ส. พรรณิการ์ วานิช กรรมการคณะก้าวหน้า ถูกโจมตีสองครั้ง 7-8 ก.พ. 2564
- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ถูกสอดแนมมากที่สุดในกลุ่มนี้ถึง 8 ครั้ง ตั้งแต่ 3 ธ.ค. 2563 – 4 ก.ค. 2564
เมื่อเทียบกับราคาการซื้อขายสปายแวร์ดังกล่าวในต่างประเทศ เช่น ในโปแลนด์ ซึ่งพบครั้งแรกในปี 2560 มูลค่าราว 200 ล้านบาท และในกานาในปี 2558 มูลค่าราว 354 ล้านบาท ส่วนประเทศไทยที่ค้นพบว่าใช้ (สปายแวร์นี้) ตั้งแต่ 2014 (2557) ยาวมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนต้องซื้อมากกว่าสองเวอร์ชันขึ้นไป อย่างน้อยก็ต้องเป็นสองเท่าที่กานาซื้อ ก็ประมาณ 700 ล้านบาท
“ถึงรัฐบาลนี้จะอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง แต่หากมีพฤติกรรมสอดแนมประชาชนแบบนี้ด้วยอาวุธสงครามไซเบอร์ที่ทรงอานุภาพแบบนี้ ผมยืนยันว่า รัฐบาลนี้เปรียบเสมือนรัฐบาลเผด็จการเต็มรูปแบบ” เขากล่าวสรุป
กลาโหมชี้แจง
พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นชี้แจงต่อสภาว่ากระทรวงกลาโหม “ไม่มีนโยบายไอโอ” กับกลุ่มบุคคลใด ๆ ย้ำอีกครั้งว่าข่าวลวง ข่าวปลอม เฟคนิวส์ มีผลกระทบต่อประชาชนมาก ในส่วนของกองทัพ กระทรวงกลาโหมเอง ได้มีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในสังกัดกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและตอบโต้ป้องกันเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และการที่จะทำให้เข้าใจผิดรวมไปถึงเกิดผลกระทบในวงกว้าง
ส่วนเรื่องสปายแวร์ที่มี ส.ส. อภิปรายนั้น เป็นเรื่องของการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทั่วไป หลังจากที่บริษัทได้ตรวจพบว่ามีการติดตั้งสปายแวร์ ที่ประดิษฐ์โดยบริษัทของตนเอง ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย และได้ส่งอีเมล แจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงปฏิบัติการป้องกัน ซึ่งไม่ได้ส่งให้กับไทยเท่านั้น แต่ส่งไป 45 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการแจ้งเตือนปกติ
ในส่วนของรัฐบาลขอยืนยันว่าไม่ได้มีนโยบายที่จะใช้สปายแวร์ ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยืนยันว่าไม่มีนโยบาย ไม่เคยกำหนดที่จะใช้สปายแวร์หรือการข่าวที่จะไปกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป