นายกฯ ให้กำลังใจประชาชน ข้าราชการ ภาคประชาสังคม ช่วยเหลือกันช่วงน้ำท่วม “ภูเก็ต” อ่วมท่วมครึ่งเกาะ หนักสุดรอบ 30 ปี มท.1 สั่งจังหวัดดูแลให้ทั่วถึง ทุกหน่วยระดมกำลังช่วย เร่งสูบน้ำลงทะเล หวั่นพายุมาอีกลูก
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.-16 ต.ค.65 ที่ผ่านมา ทำให้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์และกำกับดูแลทุกหน่วยงานให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด พร้อมกับฝากความห่วงใยและให้กำลังใจประชาชน ข้าราชการ ภาคประชาสังคม ที่ช่วยเหลือกันในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก พิจิตร นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา (อำเภอตะกั่วป่า) และภูเก็ต 3 อำเภอ (อำเภอถลาง อำเภอเมืองภูเก็ต และอำเภอกะทู้) รวม 10 ตำบล 15 หมู่บ้าน ทั้งนี้ นายกฯ ได้ติดตามและกำกับดูแลทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในทุกพื้นที่อย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเร่งสำรวจประเมินความเสียหายในพื้นที่หลังสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างเร่งด่วน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีน้ำท่วมหนักในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ตว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยนักท่องเที่ยว พี่น้องประชาชน ในการเดินทางสัญจรในช่วงวันหยุดยาว ประกอบกับจังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงสั่งการให้ตำรวจจราจรคอยออกอำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณจุดที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึงบริเวณย่านการค้า และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ สำรวจเครื่องหมายจราจร ระบบไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตลอดจนเตรียมแผนเผชิญเหตุและชุดเคลื่อนที่เร็วไว้แก้ไขปัญหากรณีมีรถจอดเสียหรือเกิดอุบัติเหตุกีดขวางการจราจร ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 191 และ 1599 หรือตำรวจทางหลวง 1193 ตลอด 24 ชม.
ด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง ที่บริเวณศาลเจ้าท่าเรือ เป็นจุดที่น้ำท่วมหนักและระดับน้ำสูงมากกระทบการจราจรเส้นทางหลักคือถนนเทพกระษัตรี ทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ทั้งขาเข้าและขาออก ต้องระบายรถให้ขาออกเคลื่อนตัวก่อน ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันอยู่ ในส่วนตำบลอื่นๆ ที่น้ำท่วม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งต่างลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ทำการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และบัญชาการเหตุการณ์ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและทุกหน่วยงานทุกท้องถิ่น ระดมกำลังบุคลากรพร้อมเครื่องจักรกลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งระดับน้ำท่วมแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งความสูงระดับหัวเข่า บางแห่งความสูงถึงเอว
ล่าสุด มีรายงานพื้นที่ตำบลป่าตอง เกิดเหตุดินสไลด์บริเวณโค้งปลาร้าขาขึ้นเขาป่าตอง และเสาไฟฟ้าล้มขวางถนนจำนวนหลายต้น โดยมีรายงานว่าน้ำท่วมครั้งนี้หนักสุดในรอบ 30 ปี
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เทศบาลนครภูเก็ต แจ้งว่า ในขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำในคลองบางใหญ่มีระดับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ หากพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตได้รับความเดือดร้อน หรือต้องการกระสอบทราย ขอให้แจ้งได้ที่งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครภูเก็ต โทร. 0-7621-1111 และโทร. 199 หรือสายด่วน เทศบาลนครภูเก็ต โทร. 1132
นอกจากนี้ มีประกาศจากชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต แจ้งงดตลาดถนนคนเดินภูเก็ตหลาดใหญ่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมหนัก
ท่าอากาศยานภูเก็ตแจ้งว่า เนื่องด้วยฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ เพื่อป้องกันการพลาดเที่ยวบิน ขอให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางมาท่าอากาศยานภูเก็ต ทั้งนี้ ยังเปิดให้บริการตามปกติ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0-7635-1111
จากนั้นเวลา 13.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายอานุภาพ รอดขวัญ ยอดระบำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1/2565 โดยมี พล.ร.ต.ณัฐพงค์ ญาโณทัยขจิตต์ รอง ผอ.รมน.จว.ภูเก็ต, พ.ต.อ.จิรศักดิ์ เสียมศักดิ์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต, นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายอานุภาพกล่าวว่า ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เกิดสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังเส้นทางจราจรและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ผู้ว่าฯ ภูเก็ตได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนดูแลประชาชนตั้งแต่เช้าที่ผ่านมาทั้งสามอำเภอ ไปดูแลและได้มอบหมายให้ตนจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังว่าจุดไหนยังตกหล่นไม่ครบถ้วน หรือจุดใดจะสนับสนุนเพิ่มให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้บ้าง มีหลายส่วนได้ข้อมูลในที่ประชุม ได้สั่งการให้ช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว เช่น นำอาหารไปตามจุดต่างๆ นำเครื่องสูบน้ำติดตั้งระบายน้ำออก
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าฝนยังตกพอสมควร และพายุอีกลูกยังจะเข้ามาอีก จะต้องเร่งบริหารจัดการน้ำให้ลดลง ระดมเครื่องสูบน้ำดำเนินการระบายน้ำออกลงทะเลให้มากที่สุด และให้ทุกท้องถิ่นเตรียมพร้อมป้องกันฝนที่อาจตกหนักลงมาในระยะนี้ ในส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความเป็นห่วงชาวภูเก็ต ได้ให้กำลังใจมา และให้ดูแลให้ทั่วถึงกับผู้ที่เดือดร้อน รวมทั้งผู้ใหญ่หลายคนได้ให้กำลังใจมาให้ปฏิบัติงานกันอย่างเต็มที่ในการดูแลประชาชน ทาง ปภ.จังหวัดกำลังรวบรวมความเสียหายเบื้องต้น และจะรีบรายงานขึ้นไป
นายอุดมพร กาญจน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเกิดฝนตกหนักในจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเก็ตเกิดน้ำท่วมและดินสไลด์ หลังจากน้ำลดจะมีการสรุปความเสียหายเบื้องต้น กำลังสำรวจหมู่บ้านทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อน คาดว่าประมาณครึ่งเกาะภูเก็ต รวมทั้งถนนหนทางต่างๆ อาทิ พื้นที่อำเภอเมือง เทศบาลนครภูเก็ตค่อนข้างหนัก ทางเทศบาลนครภูเก็ตขอเครื่องสูบน้ำจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ไปติดตั้งที่ประตูระบายน้ำ รวม 3 จุด เพื่อเร่งรัดระบายน้ำ ส่วนพื้นที่อื่นๆน้ำเริ่มทยอยลดลง และเตรียมข้อมูลจากท้องถิ่นทั้งสามอำเภอ เพื่อประกาศเขตพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ขอฝากถึงประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนถึงวันที่ 22 ต.ค.นี้ ช่วยติดตามสภาวะอากาศโดยเฉพาะพื้นที่อยู่ใกล้เชิงเขา เกรงว่าตอนนี้ดินชุ่มน้ำเต็มที่ดินอาจจะสไลด์ลงมา ขอให้ระมัดระวัง
ทัพเรือภาคที่ 3 รายงานว่า ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 3 และกองทัพภาคที่ 4 จัดกำลังพลสนับสนุนทุกส่วนเต็มกำลังตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วน 1696
ต่อมาเวลา 17.40 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต รายงานว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบรวม 19 ชุมชน/หมู่บ้าน (ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต) แบ่งเป็น 1.อำเภอถลาง ได้รับผลกระทบ 8 ชุมชน/หมู่บ้าน 2.อำเภอกะทู้ ได้รับผลกระทบ 5 ชุมชน/หมู่บ้าน 3.อำเภอเมืองภูเก็ต ได้รับผลกระทบ 6 ชุมชน/หมู่บ้าน
ที่ จ.อ่างทอง บริเวณถนนหมู่ 6 หลังวัดโพธิ์หอม ต.ราชสถิตย์ อ.ไชโย น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่และไหลเอ่อเข้าท่วมถนนไปยังบ้านเรือนประชาชนสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต่างเร่งเก็บข้าวของกันอย่างจ้าละหวั่น ด้านนายยนต์ วัย 46 ปี ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวกว่า 100 ตัว ได้เร่งทำการย้ายวัวและหญ้าฟ้าอาหารสัตว์ไปไว้ที่ปลอดอย่างเร่งด่วน
ที่ จ.ชัยนาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถนนคลองมหาราช บริเวณ ม.12 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ที่ถูกแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะขาดเป็นทางยาวกว่า 60 เมตร เมื่อคืนวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนได้เร่งซ่อมตลอด 2 วัน 2 คืน เหลือแค่ 1 เมตร แต่ปรากฏว่ากระแสน้ำที่ถูกบีบเข้ามาทำให้ช่องเปิดกว้างขึ้นมาอีก 5 เมตร เจ้าหน้าที่ใช้แท่งเหล็กเข้าไปปักเพิ่มเพื่อชะลอกระแสน้ำ จึงสามารถอุดช่องขาดได้สำเร็จ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าคลองมหาราชลดลง และทำให้ชาวบ้านสบายใจไปได้เปลาะหนึ่ง.