30สิงหาคม2564 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เป็นผลจากอัตราการเกิดใหม่ของเด็กที่ลดลง
สวนทางกับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกายตามลำดับ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19และมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากภัยพิบัติ จึงนับเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนระดับชาติ
ที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งเครื่องระบบสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการแพทย์อย่างทั่วถึง สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมในหลากมิติ
จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ กลุ่มทรู ดำเนินโครงการ “พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” เพื่อให้ผู้สูงอายุเป้าหมายในพื้นที่เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับทีมหมอครอบครัว นำร่อง7จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ระยอง ตรัง และสมุทรสงคราม
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่าง “ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน” สู่การปฏิรูปด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยที่สจล. ได้ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีสุขภาพ โดยพัฒนาอุปกรณ์ ระบบการเก็บบันทึก การวินิจฉัยโดยปัญญาประดิษฐ์ และการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างปลอดภัย
นอกจากจะเป็นการตอบสนองปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการจัดระบบการให้บริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นับเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสถาบัน ในฐานะThe World Master of Innovationสู่การขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทย และจัดตั้งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH)เพื่อเป็นโรงพยาบาลที่พร้อมให้การดูแล รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ รองรับสังคมแห่งอนาคตเพื่อการชราในถิ่นที่อยู่(Ageing in Place)โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth)ทันตกรรมทางไกล (Teledentistry)เชื่อมโยงการดูแลจากบ้านสู่โรงพยาบาล และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของไทย ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด”
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเสริมว่ากรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาแบบคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชน (Community Screening)อย่างง่ายใน9ด้านสำคัญ พร้อมวีดิทัศน์เรียนรู้วิธีการคัดกรองด้วยตนเอง
โดยความร่วมมือทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยJUTENDOประเทศญี่ปุ่น กรมวิชาการต่าง ๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอดจนราชวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดกรองความเสื่อมถอยของร่างกายผู้สูงอายุ โดยใช้แบบคัดกรองดังกล่าวในจังหวัดพื้นที่นำร่องจากการคัดกรองนำไปสู่การวางแผน ออกแบบระบบบริการ และสามารถให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ในรูปแบบที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับปฐมภูมิและชุมชน รวมถึง อสม. ภายใต้นโยบายระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว3คน
อย่างไรก็ตามสบส.มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่จำเป็น (Health Content) เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการบริการที่มีคุณภาพ เป็นการยกระดับไปสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อของประเทศไทยร่วมกัน ด้วยระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth)และทันตกรรมทางไกล (Teledentistry)อย่างยั่งยืน
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า ความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข และ สจล. ในโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มทรูจะได้นำเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัล ร่วมดูแลคนไทย
โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนในจังหวัดต่างๆ ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง โดยกลุ่มทรูจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับหลากหลายพันธมิตรในภาคสาธารณสุข ผสานกับความพร้อมและเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรูร่วมพัฒนาและออกแบบเว็บแอปพลิเคชันเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของ อสม.หมอประจำบ้านในชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพยาบาลใกล้บ้าน
รวมถึง หมอครอบครัว หรือแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวในโรงพยาบาลชุมชน ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจคัดกรอง นัดหมายพบแพทย์ และติดตามอาการ พร้อมมีการประมวลผลและการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งยังช่วยให้โรงพยาบาลและสาธารณสุขจังหวัด สามารถบริหารจัดการด้านบุคลากรการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มทรู มั่นใจว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อร่วมกัน และจะเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะได้ร่วมยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขของไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ทำให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง รวดเร็วทันท่วงที และสะดวกสบาย สอดคล้องกับเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการนำศักยภาพด้านโทรคมนาคมดิจิทัล เชื่อมโยงคนไทยพร้อมทั้งเสริมสร้างระบบนิเวศสาธารณสุข ยกระดับการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ
ทั้งการเชื่อมต่ออุปกรณ์IoTตรวจวัดสุขภาพ บันทึกข้อมูลและประมวลผล ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU)ด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จัดขึ้นเมื่อวันที่30สิงหาคม ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานในพิธี ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่www.facebook.com/kmitlofficial และ https://www.kmitl.ac.th