พิกัดไม่ลับ แต่ไปไม่ถึง @ลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์
พูดถึงจังหวัดลพบุรี คนจะนึกถึงฝูงลิงวิ่งไปมากลางเมือง ก็ใช่เพราะเขาเป็นเมืองพระราม ก็ต้องมีทหารวานรปกป้องคุ้มครองเมือง เมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองนารายณ์ด้วย ก็เพราะพระรามก็คือพระนารายณ์อวตารมาเกิด เมืองนี้เป็นเมืองสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย ความจริงเมืองนี้ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงแค่ 2 ชม. เราก็ได้ชมเมืองย้อนอดีตไปได้หลายยุคหลายสมัย เป็นเมืองที่น่าค้นหาไม่น้อยเลย บทความนี้ขอย้อนไปสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก่อนนะ เพราะหลายคนคงจะคุ้นเคยจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่อาละวาดทุกคนให้แต่งไทยไปถ่ายรูปตามสถานที่ของในละครได้ออกมาสวยงามตามแบบฉบับไทย
🚗🚗⭐⭐พิกัดไม่ลับจุด ที่ 1 ประตูเพนียดคล้องช้าง
ประตูเพนียดคล้องช้าง ความจริงที่นี่ก็ลับอยู่นะ เพราะอยู่ในค่ายทหารสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี การเข้าออกต้องขออนุญาตทหารเขาก่อนนะ
ประตูเพนียดคล้องช้าง เป็นประตูเมืองละโว้ทางทิศตะวันออก (จ.ลพบุรี ในปัจจุบัน) เป็นโบราณสถานที่เชื่อว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2216 ประเพณีล่าสัตว์และคล้องช้างเป็นประเพณีนิยมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ประตูที่เห็นนี้ 🔼 เป็นประตูเมืองที่เรียกว่าประตูเพนียด ออกจากประตูเมืองไปก็เป็นป่า ในการคล้องช้างสมัยก่อน จะเอาเสือมาปล่อยให้ไปไล่ช้างป่าเข้ามาในเพนียด เมื่อไล่ช้างเข้ามาในเพนียดได้แล้วพระเจ้าแผ่นดินทำการคล้องช้าง ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ ได้ช้างมาไม่ต่ำกว่า 300 เชือก โดยจะนำช้างป่าไว้ใช้ในราชการ เป็นช้างทรงและช้างศึก ในสมัยนั้นก็ต้องเชิญราชทูตมาชมการคล้องช้างกันเป็นที่สนุกสนานท้าทายความสามารถกันหน่อย
พิกัดไม่ลับจุด ที่ 2 พระที่นั่งเย็น ทะเลชุบศร
🚗🚗⭐⭐พระที่นั่งเย็น หรือ พระที่นั่งไกรสรสีหราช ทะเลชุบศร
พระที่นั่งเย็นนั้นที่เย็นก็เพราะมันเป็นที่ลุ่มเวลาฤดูฝน น้ำจะขังในพื้นที่เหมือนเป็นทะเลสาบ สมเด็จพระนารายณ์โปรดเสด็จแปรพระราชฐานมาพักที่พระที่นั่งเย็น คือเป็นตำหนักที่มีน้ำล้อมรอบ ทำให้พักผ่อนเย็นสบาย ต้องนึกถึงสมัยก่อนเราก็ไม่มีไฟฟ้านะ อากาศเย็นๆนั้นหายาก นอกจากนั้นยังเป็นที่ชมจันทรุปราคา ซึ่งถือว่าเริ่มมีการศึกษาด้านดาราศาสตร์เป็นครั้งแรก มีการใช้กล้องส่องดูดาวมาติดตั้งและเป็นจุดที่เห็นจันทรุปราคาชัดเจนอีกด้วยนะ
ชื่อทะเลชุบศร เพราะมีความเชื่อว่าพระรามนำศรมาชุบที่แหล่งน้ำนี้ ซึ่งจุดประสงค์ของทะเลชุบศรนี้ก็เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง
🚗🚗⭐⭐พิกัดไม่ลับจุด ที่ 3 หอดูดาววัดสันเปาโล
หอดูดาววัดสันเปาโล สถานที่นี้น่าจะแปลกตาในสมัยนั้นมาก มีทรงสูงกว่าบ้านเรือนปกติมาก ที่นี่เป็นทั้งโบสถ์และหอดูดาวที่มีอุปกรณ์ได้มาตราฐานในสมัยนั้น และถือว่าเป็นหอดูดาวแห่งแรกในประเทศไทย ดำเนินการก่อสร้างโดยนักบุญเยซูอิก ชาวฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยเรื่องดาราศาสตร์จึงโปรดให้สร้างหอดูดาวเพื่อศึกษา แต่หลังจากสิ้นสมัยพระนารายณ์วัดนี้ก็ถูกทิ้งร้างไป
🚗🚗⭐⭐พิกัดไม่ลับจุด ที่ 4 สะพานนารายณ์
สะพานนารายณ์
ที่นี่ไม่น่ามีคนสนใจเท่าไรแต่ได้ฟังจากอาจารย์ผู้รู้ประวัติศาสตร์แล้วสามรถเล่าได้เป็นชั่วโมง
เป็นสะพานที่ขึ้นมาจากทางท่าน้ำลพบุรี เวลาสมเด็จพระนารายณ์เสด็จจากอยุธยามาจะขึ้นที่ท่าน้ำนี้ เพราะสมัยก่อนเดินทางจากอยุธยาทางเรือใช้เวลา 2 วัน ท่านจะเสด็จพระราชดำเนิน ไปทางบันได ซึ่งน่าจะเป็นการดำเนินโดยเสลี่ยงเพราะขั้นบันไดไม่สูงนัก เส้นทางไปสู่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ปัจจุบันนี้ประตูนี้ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้านะ สามรถเดินชมจากด้านนอกไปถ่ายรูปได้ ลองค้นหาดู นึกถึงบรรยากาศอดีตที่นี่คงสวยงามไม่น้อย
🚗🚗⭐⭐พิกัดไม่ลับจุด ที่ 5 พระนารายณ์ราชนิเวศน์
พระนารายณ์ราชนิเวศน์
จุดนี้น่าจะรู้จักกันดีกันอยู่แล้ว คงไม่ลับแน่เชียว เพราะปัจจุบันที่นี่เขาจัดงานประจำปีบ่อย ๆ มีให้แต่งไทย มีตลาดโบราณและใช่เงินในอดีต
เป็นพระราชวังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สร้างในปี พ.ศ. 2209 ใช้สำหรับเสด็จแปรพระราชฐานมาล่าสัตว์ที่ละโว้ และใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ที่นี่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก ๆ และมีพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมเพื่อศึกษาอีกด้วย
🚗🚗⭐⭐พิกัดไม่ลับจุด ที่ 6 บ้านวิชาเยนทร์
บ้านวิชาเยนทร์ หรือบ้านหลวงรับรองราชทูต นั้นอยู่ใกล้กับวังนารายณ์นิเวศน์มาก คาดเดาว่าเดินไม่ถึงกิโลเมตรก็ถึงแล้ว นั่งเกี้ยวเดี๋ยวเดียวเองก็ถึงพระราชวังแล้ว
เป็นบ้านที่สร้างขึ้นเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) และเพื่อรับรองราชทูตต่างชาติที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ เป็นการสร้างด้วยอิฐปูน ที่ถือว่าทันสมัยมาก มีน้ำพุหน้าบ้าน (ซึ่งเป็นหรูหราทันในสมัยนั้นมาก) และมีบันไดทรงโค้ง มีห้องเก็บไวน์สำหรับรับรองด้วย ในสมัยนั้นการจะมีบ้านที่สร้างด้วยอิฐด้วยปูนนั้นมีได้เฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นนะ มีอาคารที่เป็นโบสถ์คริสต์ซึ่งน่าจะเป็นโบสถ์แห่งแรกในไทยเลยทีเดียว
ติดตาม
True ID In-trend : https://creators.trueid.net/@tantawan
Facebook : https://www.facebook.com/Tantawan9090
Contact by e-mail : [email protected]