เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ลพบุรี – ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ให้กับ หมอภาคย์ หัวหน้านักเรียนหลักสูตร การแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี และกระทำพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 ที่ ลพบุรี
วันนี้ ( 28 พ.ย.) พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้ร่วมกระโดดร่มจากอากาศยาน แบบ MI 17 (เอ็มไอ สิบเจ็ด) ของกองทัพบก พร้อมทั้ง ทำการประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือ “พรานเวหา” ให้กับ พันเอก นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน นายแพทย์ใหญ่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียน หลักสูตร แทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 ณ สนามกระโดดร่ม บ้านท่าเดื่อ ต.นิคมสร้างตนเอง อ.เมือง จ.ลพบุรี
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้ทำการกระโดดร่มจากอากาศยาน พร้อมทั้งลอยตัวอยู่กลางอากาศ ที่ ระดับความสูง 12,500 ฟิต เคลื่อนที่กลางอากาศ โดยยังไม่กระตุกร่ม เข้าหา พันเอก นายแพทย์ ภาคย์ โลหารชุน หรือ คุณหมอ ภาคย์ ในลักษณะการเกาะหมู่ เพื่อทำการประดับเครื่องหมายกลางอากาศ ซึ่งเป็นขีดความสามารถ เฉพาะตัวของผู้นำหน่วยรบพิเศษ เมื่อประดับเครื่องหมายกลางอากาศ เรียบร้อยแล้ว จึงทำการกระตุกร่ม ร่อนลงสู่ที่หมายได้อย่างปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการกระโดดร่ม เที่ยวสุดท้ายของนักเรียนในหลักสูตร
หลังจากนักกระโดดร่มทุกนาย ลงสู่ที่หมายเป็นที่เรียบร้อยปลอดภัยแล้ว ท่าน ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พร้อมคณะ ได้ร่วมกระทำพิธีประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถ การแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือเครื่องหมาย “พรานเวหา” ที่บริเวณแขนซ้ายด้านบน ให้แก่นักเรียนผู้สำเร็จหลักสูตร ทั้ง 80 นาย ด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมทั้ง เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธี รุ่นที่ 19 อย่างเป็นทางการ
สำหรับ หลักสูตรหลักสูตรการแทรกซึมเบื้องสูงทางยุทธวิธี หรือ พรานเวหา High Altitude High Opening หลักสูตรนี้ ถือเป็นอีกหลักสูตรหนึ่งของ โรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ คำย่อคือ HAHO (ฮาโฮ่) เป็นการกระโดดร่มสูง เปิดร่มสูง ซึ่งลักษณะการกระโดดร่มแบบนี้ นักโดด จะต้องทำการกระโดด ออกจากอากาศยาน ที่ระดับความสูงประมาณ 15000-35000 ฟิตจากพื้นดิน
นักโดดร่มจะต้องมีความกล้าหาญ มีสติปัญญา มีไหวพริบในการตัดสินใจ ผ่านการฝึกฝนทักษะเป็นอย่างดี ทั้งร่างกายและจิตใจ นักโดดต้องสามารถเดินร่มกลางอากาศได้ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เพื่อแทรกซึม เข้าสู่ที่หมายได้อย่างปลอดภัย และรอดพ้นจากการตรวจจับจากเรดาห์ของฝ่ายตรงข้าม โดยสามารถเดินร่มกลางอากาศ เพื่อแทรกซึมเข้าสู่ที่หมายได้ห่างจากจุดที่กระโดดออกจากอากาศยานได้ไกลมากถึง 30-50 กิโลเมตร ซึ่งมีระยะการฝึกรวม 6 สัปดาห์ ทั้งการฝึกภาคพื้นดิน การฝึกผ่านสถานีจำลองต่างๆ การฝึกการทรงตัวกลางอากาศในอุโมงค์ลม ก่อนทำการกระโดดจริงจากอากาศยาน ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน รวมทั้งหมด 24 ครั้ง ตลอดหลักสูตร
ทั้งนี้ พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กล่าวว่าในวันนี้ผู้บังคับบัญชาการมากระทำพิธีปิดหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูงทางยุทธวิธีของ โรงเรียนสงครามพิเศษ ซึ่งผู้บัญชาการก็จะขึ้นไปเป็นประธานในการทำพิธีประดับเครื่องหมายให้กับนักเรียนซึ่งเป็นหัวหน้านักเรียนในหลักสูตรนี้ และหลักสูตรแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูง ถือว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรของนักรบพิเศษชั้นสูง
กำลังพลที่จะเรียนได้ จะต้องเป็นกำลังพลในชุดปฏิบัติการรบพิเศษ เพื่อนำขีดความสามารถในการแทรกซึมทางอากาศเบื้องสูง ไปปฏิบัติภารกิจตามที่รับมอบ ซึ่งขอฝากถึงกำลังพลรบพิเศษ ทั้งที่เข้ามาใหม่แล้วก็กำลังพลที่ยังอยู่ในปัจจุบัน “เราคือนักรบพิเศษ” ขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการแทรกซึมทางอากาศ การแทรกซึมทางน้ำ ถือเป็นขีดความสามารถหนึ่งของนักรบพิเศษ เพราะฉะนั้น กำลังพลที่อยู่ในหน่วยบัญชาการสงความพิเศษ ก็สามารถที่จะเข้ามาเรียนหลักสูตรเหล่านี้ได้ ถ้าหากว่าอยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนสงครามพิเศษ ก็ยินดีเชิญชวนให้กำลังพลได้เข้ามาเรียนหลักสูตร ได้