ยุคสมัย/ศิลปะลพบุรี :
มรดกโลกยุคอาณานิคม และชาตินิยม
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ใกล้ท้องสนามหลวง) ได้ดําเนินปรับปรุงทั้งอาคารและการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ที่จัดแสดงเกี่ยวกับ “ศิลปะและลําดับยุคสมัยต่างๆ ในประเทศไทย” ครั้งใหญ่ โดยก็ได้มีการทยอยเปิดห้องจัดแสดงศิลปะและยุคสมัยต่างๆ มาเป็นลําดับ จนกระทั่งได้ทําการเปิดให้เข้าชม “ห้องลพบุรี (เขมรในประเทศไทย)” เป็นห้องสุดท้าย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งจะผ่านมานี้
แน่นอนว่า การจัดแสดงในห้องลพบุรีนั้น มีความทันสมัยมากขึ้นทั้งในแง่ของเทคโนโลยีที่นํามาใช้และความสวยงาม เช่นเดียวกับในห้องอื่นๆ ที่เปิดให้เข้าชมมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ชื่อของห้องคือ “ลพบุรี” ซึ่งมีนัยยะสื่อถึงทั้งยุคสมัยและรูปแบบศิลปะนั้นได้ย้อนกลับไปใช้ชื่อเรียกดั้งเดิม ซึ่งเคยมีปราชญ์และนักวิชาการหลายท่านตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสม ทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ชาตินิยมที่อยู่เบื้องหลังของชื่อเรียกยุคสมัยและรูปแบบศิลปะ จนทําให้มีการเสนอให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อเรียกอื่น ได้แก่ ศิลปะขอม/เขมร, ศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทย และศิลปะขอม/เขมรในประเทศไทย ซึ่งกรมศิลปากรได้เคยน้อมรับมาใช้จนมีการเปลื่ยนชื่อเรียกยุคสมัย/ศิลปะเหล่านี้ตามหลักฐานและคําแนะนําต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ในกํากับของกรมศิลปากรมาแล้ว
การย้อนกลับไปใช้ชื่อเรียกว่า “ห้องลพบุรี” (ถึงแม้ว่าจะมีคําว่า “เขมรในประเทศไทย” ห้อยท้ายก็เถอะ) จึงเป็นการย้อนกลับไปปลุกสํานึกล้าหลังที่เกี่ยวเนื่องอยู่ระหว่างการสร้างชาติในยุคอาณานิคม และชาตินิยม/เชื้อชาตินิยมแบบสงครามเย็น
ยุคสมัย/ศิลปะลพบุรีมาจากไหน?
คําว่า “สมัย/ศิลปะลพบุรี” ปรากฏขึ้นครั้งแรกในผลงานทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่เป็นครั้งแรกในหนังสือ Sculpture in Siam ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวเยอรมันที่ชื่ออัลเฟร็ด ซัลโมนี (Alfred Salmony) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2468
แต่ก็ดูเหมือนว่า นิยามความเป็น “ยุคสมัย หรือศิลปะลพบุรี” ตามอย่างที่กรมศิลปากรย้อนกลับมาใช้ในปัจจุบันนั้น จะมีรากฐานมาจากพระนิพนธ์เรื่อง “ตํานานพุทธเจดีย์สยาม” ของบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชา นุภาพ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2469 คือเป็นเวลาหนึ่งปีหลังจากงานของซัลโมนีตีพิมพ์ออกมามากกว่า
ในตํานานพุทธเจดีย์สยามนั้น ได้จําแนกพุทธศิลป์ประเภทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ออกเป็นยุคสมัยต่างๆ 7 สมัย ได้แก่ ทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี, เชียงแสน, สุโขทัย, อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ผ่านทางรูปแบบศิลปะ แล้วได้ขมวดให้ยุคสมัยของพุทธศิลป์เหล่านี้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจนกลายเป็นประเทศสยามในที่สุด
ที่น่าสนใจก็คือในพระนิพนธ์เรื่องนี้ กรมดํารงฯ ได้พยายามสร้างให้ “ศิลปะลพบุรี” แตกต่างไปจาก “ศิลปะขอม/เขมร” ดังตัวอย่างเช่น
“ลักษณะพระพุทธรูปลพบุรีดูเหมือนจะเอาแบบทวารวดีกับแบบขอมผสมกัน จึงเกิดเป็นแบบใหม่ขึ้นมาอย่างหนึ่ง” เป็นต้น
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีนักประวัติศาสตร์ศิลปะเห็นด้วยกับกรมดํารงฯ ว่าพระพุทธรูปลพบุรีคือการผสมผสานระหว่างแบบทวารวดีกับขอมก็ตาม แค่ลักษณะอย่างนี้เป็นจุดตั้งต้นที่จะทําให้เกิดชุดคําอธิบายว่ากลุ่มศิลปะขอม/เขมร ที่พบอยู่ในอาณาเขตสยามประเทศไทยนั้น มีลักษณะที่แตกต่างไปจากที่พบในเขตประเทศกัมพูชาอันมีความหมายโดยนัยยะว่าผู้สร้างกลุ่มศิลปกรรมเหล่านี้ไม่ใช่พวกขอม/เขมรในเขตประเทศกัมพูชา และไม่เคยมีอํานาจทางการเมืองการปกครองของพวกขอม/เขมร ในเขตอธิปไตยของประเทศไทย
“ขอม” ก็คือ “เขมร” ในทรรศนะของกรมดํารงฯ
จากข้อความของกรมดํารงฯ จะเห็นได้ว่า “ขอม” นั้นก็คือ “เขมร”
ความเข้าใจอย่างนี้มีอยู่ทั่วไปก็ปรากฏอยู่ในชิ้นงานต่างๆ ของพระองค์รวมถึงในหมู่ปัญญาชนและชนชั้นนําสยามมาแต่เดิม
วาทกรรมที่ว่า “ขอม” เป็นผู้สร้างปราสาทหินต่างๆ ไม่ใช่ประชากร “เขมร” ในปัจจุบัน จนบางทีก็เลยเถิดไปถึงขั้นเชื่อกันว่า “ขอมคือไทย” นั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ลัทธิคลั่งชาติตามแนวคิดชาตินิยม โดยเพิ่งเกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นเท่านั้น
ศิลปะลพบุรีผลัดเลือดขอมให้เป็นไทย ในพิพิธภัณฑ์
พัฒนาการทางความคิดที่สําคัญอีกอย่างเกี่ยวกับวาทกรรม “ศิลปะลพบุรี” นั้นเกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่กรมดํารงฯ และเลขานุการส่วนตัวของพระองค์คือชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Goerge Cœdès) นั้นได้ร่วมกันจัดจําแนกโบราณวัตถุ
เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสําหรับพระนคร (ต่อมาคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2470-2472 จนทําให้เกิดหนังสือ คู่มือนําชมพิพิธภัณฑสถานสําหรับพระนครขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2472
ประเด็นสําคัญในหนังสือเล่มนี้ก็คือได้มีการจัดหมวดหมู่ศิลปะต่างๆไว้เป็น 2 สมัยหลักคือ 1. ศิลปะสมัยก่อนไทย และ 2. ศิลปะไทย โดยระบุว่าศิลปะลพบุรี (ซึ่งมีความแตกต่างกับศิลปะขอม/เขมรในกัมพูชา) เป็นศิลปะสมัยก่อนไทย แต่จะค่อยๆ หลอมรวมกลายเป็นไทย โดยการผสมผสานกับ “ศิลปะสุโขทัย” ซึ่งเป็นศิลปะของคนไทยแล้วกลายเป็น “ศิลปะอู่ทอง” คือกลุ่มพระพุทธรูปรุ่นต้นกรุงศรีอยุธยาจึงตั้งชื่อพุทธศิลป์กลุ่มนี้ตามชื่อพระเจ้าอู่ทอง ที่เชื่อกันว่าเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น จากนั้นเลือดขอมก็ค่อยๆ ผลัดเลือดขอมเปลี่ยนเป็นเลือดไทยที่แสดงออกผ่าน “ศิลปะอยุธยา” ในที่สุด
สิ่งที่สําคัญก็คือวิธีการจัดจําแนกและอุดมการณ์เบื้องหลังอย่างนี้ ถูกใช้ในการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสําหรับพระนครในยุคนั้น และยังถูกใช้ต่อเนื่องมาเมื่อเปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อย่างในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแม่แบบในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในกํากับของกรมศิลปากรแทบทั้งหมด
ทําไมชื่อ “ลพบุรี” จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เรียกกลุ่มศิลปะขอม/เขมร
ที่พบในประเทศไทย?
แต่คําจํากัดความของ “ยุคสมัย/ศิลปะลพบุรี” อย่างที่เป็นแม่แบบของแนวคิดดังกล่าวในปัจจุบันนั้น น่าจะเห็นได้จากในหนังสือ “ศิลปะสมัยลพบุรี” (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) ของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้เป็นโอรสองค์สุดท้องของกรมดํารงฯ อย่าง ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่นิยามความหมายศิลปะลพบุรีเอาไว้ว่า
“คําว่า ‘ศิลปะสมัยลพบุรี’ เท่าที่ใช้กันอยู่ในวงการโบราณคดีประเทศไทยปัจจุบัน
หมายถึงโบราณวัตถุสถานขอมที่พบในประเทศไทย รวมทั้งโบราณวัตถุสถานขอมที่ทําขึ้นในประเทศไทย แต่ทําเลียนแบบศิลปะขอมในประเทศกัมพูชา ฉะนั้นศิลปะสมัยลพบุรีในที่นี้จึงมีทั้งที่เป็นแบบขอมอย่างแท้จริง และที่ทําขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะผิดแปลกออกไปบ้าง”
คําอธิบายที่ว่า “ทําขึ้นเลียนแบบขอมอันมีลักษณะผิดแปลกออกไปบ้าง” นั้น ย่อมหมายความว่ามีลักษณะเหมือนขอมมากกว่าที่จะไม่เหมือน ที่สําคัญก็คือกลุ่มชิ้นงานในศิลปะขอมที่สร้างขึ้นนอกเมืองพระนคร–นครธม อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ จ. เสียมเรียบประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เช่น กลุ่มงานที่ จ. พระตะบอง นั้น ก็มีลักษณะพื้นถิ่นที่ทําให้มีลักษณะผิดแปลกออกจากศิลปะขอมที่ศูนย์กลางใน จ. เสียมเรียบ ออกไปบ้าง ไม่ต่างไปจากที่พบในเขตประเทศไทย
ควรจะสังเกตด้วยว่า หนังสือศิลปะสมัยลพบุรีของ ม.จ. สุภัทรดิศ นั้น ตีพิมพ์ขึ้นหลังจากเกิดกรณีพิพาทเรื่อง “ปราสาทเขาพระวิหาร” ระหว่างไทย–กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2505 จนทําให้เกิดกระแสชาตินิยมในการเรียกร้องทวงคืนปราสาทพระวิหารต่อมาอย่างยาวนาน กระแสชาตินิยมดังกล่าวย่อมส่งผลต่อกระบวนการคิดของ ม.จ. สุภัทรดิศในการสร้างกฎเกณฑ์ความแตกต่างระหว่าง “ศิลปะขอม/เขมร” กับ “ศิลปะลพบุรี” ขึ้นมา
อันที่จริงแล้ว การนําคําว่า “ลพบุรี” มาใช้เป็นชื่อยุคสมัย/ศิลปะ ก็เป็นเรื่องที่ดูจะผิดฝาผิดตัว เพราะ “ยุคสมัย/ศิลปะลพบุรี” นั้น ถูกกําหนดอายุให้อยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1100-1800 ในขณะที่งานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับขอม/เขมรที่เก่าแก่ที่สุดในเขตเมืองลพบุรีมีอายุอยู่ในช่วงราว พ.ศ. 1400 เศษเท่านั้น ประกอบกับการมีกลุ่มโบราณวัตถุสถานที่เกี่ยวข้องกับขอมขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆ ของประเทศ ที่แสดงให้เห็นว่าศูนย์กลางของวัฒนธรรมขอม/เขมรในประเทศไทยนั้น ไม่ได้จํากัดอยู่เฉพาะที่เมือง ลพบุรี เช่น เมืองพิมาย หรือกลุ่มปราสาทบริเวณเขาพนมรุ้ง เป็นต้น
ดังนั้น “ลพบุรี” จึงไม่ใช่ชื่อที่ครอบคลุมความหมายของกลุ่มวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับขอม/เขมรที่พบในประเทศไทยทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อคําว่าลพบุรีนั้นเป็นชื่อใหม่ที่ถูกนํามาเรียกแทนชื่อเมืองเดิมคือ “ละโว้” เมื่อราว พ.ศ. 2200 ในช่วงที่สมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา แปรพระราชฐานมาประทับเท่านั้น
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ชื่อ “ลพบุรี” ซึ่งสืบมาจาก “ละโว้” นั้น ก็แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองของขอม/เขมรอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏรูปกองทัพของเมืองละโว้อยู่ในสภาพขบวนทหารจากเมืองต่างๆ ที่เป็นเครือญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่ระเบียงคด ปราสาทนครวัด ที่สลักขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 1650
ศิลปะลพบุรี : เมื่อประวัติศาสตร์ศิลปะรับใช้การเมือง
ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เคยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ในวงเสวนาบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse “ฉอดประวัติศาสตร์ ทับหลังมาจากไหน? ‘ลพบุรี’ ศิลปะที่เพิ่งสร้างจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดย สำนักพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ว่า กระแสความโต้แย้งถึงความเหมาะสมในการเรียกกลุ่มศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องวัฒนธรรมขอม/เขมรในประเทศไทยนั้นทําให้กรมศิลปากรเลิกใช้คําว่าศิลปะลพบุรี แล้วหันมาใช้คําอื่นๆ เช่น “ศิลปะขอม/เขมรในประเทศไทย” แทน โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ การกลับมาใช้คําว่า “ศิลปะลพบุรี” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ในกํากับของกรมศิลปากรนั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากกระแสการทวงคืนปราสาทพระวิหาร โดยกลุ่มพันธมิตร ในช่วงต้นทศวรรษ2550 เท่านั้น
ดังนั้นการหวนกลับมาใช้คําว่า “ศิลปะลพบุรี” จึงมีความเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองและลัทธิชาตินิยม–เชื้อชาตินิยม อย่างมีนัยยะสําคัญ
เมื่อพิจารณาจากทั้งในแง่ของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์, อุดมการณ์ชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมที่อยู่เบื้องหลัง รวมไปถึงแนวคิดเบื้องหลังกระบวนการสร้างชาติไทยแล้ว คําว่า “ลพบุรี” จึงไม่ควรถูกนํามาใช้เรียกเป็นชื่อยุคสมัย/ศิลปะของโบราณวัตถุสถานในวัฒนธรรมขอม/เขมรในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ใช้คือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาติโดยตรงอย่างกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกํากับของตนเอง
ห้องลพบุรี ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพิ่งปรับปรุงใหม่ทั้งเทคโนโลยีและรูปแบบการจัดแสดง แต่กลับย้อนกลับใช้แนวคิดแบบอาณานิคมและสงครามเย็นในการนําเสนอข้อมูล
สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ถ่ายรูปในงานเลี้ยงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสําหรับพระนคร คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในปัจจุบัน
สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เคยเสด็จไปยังปราสาทบ้านระแงง หรือปราสาทศิขรภูมิ จ. สุรินทร์ รวมถึงปราสาทหินในวัฒนธรรมขอม/เขมรในประเทศไทยอีกหลายแห่ง จึงย่อมต้องรู้ว่าลพบุรีไม่ใช่ศูนย์กลางของวัฒนธรรมขอม/เขมร ในประเทศไทย
ทัพจากเมืองละโว้หรือลพบุรีที่ระเบียงคด ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องระหว่างลพบุรี กับขอม/เขมร ในประเทศกัมพูชา
ปราสาทพระวิหาร อีกหนึ่งปรากฏการณ์สําคัญของลัทธิชาตินิยม–เชื้อชาตินิยมไทย–กัมพูชา ที่มีแนวคิดเรื่องศิลปะลพบุรีเป็นหนึ่งในส่วนสําคัญ ช่วงยุคสงครามเย็น(ภาพจาก: https://www.phnompenhpost.com/national/hun-sen-notes-iconic-preah-vihear-temple-anniversary)