เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อ 13 การปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Take Urgent Action to Combat Climate Change and Its Impacts) ซึ่งผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้ให้ความสนใจและชื่นชมการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการ Change for Good ให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ดำเนินวิถีชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การทำเกษตรอินทรีย์ การปลูกต้นไม้ การรับประทานอาหาร การแต่งกาย การใช้ยวดยานพาหนะ ที่ “ทุกคนต้องช่วยกัน” เพื่อร่วมกัน Change for Good ให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในชีวิตของพวกเราทุกคน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมในการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในชีวิตประจำวัน โดยให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปที่ตระหนักถึงภัยคุกคามของปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อากาศวิปริตแปรปรวน ให้เข้ามาร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวให้รู้จักคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพิษ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย โดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3ช : ใช้น้อย Reduce ใช้ซ้ำ Reuse และนำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ Recycle โดยเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคลหรือประชาชน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งเป็นถังขยะเปียกคัดแยกขยะครัวเรือน ณ ต้นทาง ตั้งแต่แหล่งกำเนิด ให้ครบ 100% ในเดือนสิงหาคม 2565 โดยหากครัวเรือนใดมีพื้นที่ที่ไม่สามารถทำได้ ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดถังขยะรวมไว้ในพื้นที่อย่างน้อย 3 ชนิด คือ ถังขยะเปียก เพื่อรวมเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ ถังขยะทั่วไป และถังขยะอันตราย ซึ่งที่ผ่านมา โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนได้มีการจัดทำแล้วถึง 10.5 ล้านครัวเรือนจาก 17.8 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 60% ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการของการเกิดภาวะโลกร้อนได้กว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 600 ล้านตัน ซึ่งมีตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จ เกิดความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เช่น การบริหารขยะอินทรีย์สู่แปลงผักสวนครัวตามโครงการพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง “ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน โดยการคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไปของชุมชนบ้านป่าบุก เทศบาลตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่อว่า ยังได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดช่วยกันขยายผลและไปกระตุ้นปลุกเร้าให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ทุกประเภททั่วประเทศ น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา งดใช้สีเคมีในการย้อมผ้า และหันมาผลิตวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตผ้า เช่น ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าให้มากขึ้น เพื่อลดการเกิดของเสีย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใบไม้หรือเปลือกไม้ที่นำมาย้อมสีผ้าก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคนย้อมผ้าและผู้สวมใส่ รวมถึงให้ทุกจังหวัดได้รณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้ชื่อ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งมีนัยยะสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้ทอผ้าในทุกถิ่นที่ของประเทศไทย ที่เป็นเสาหลักในการดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยรายได้จากการจำหน่ายผ้าไทย รวมถึงสิ่งที่นอกเหนือจากการมีรายได้ นั่นคือ ทำให้ลูกหลานกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ด้วยการช่วยกันรักษาภูมิปัญญา อัตลักษณ์ความเป็นไทย และยังเป็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพราะผ้าทอไทยเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ถิ่นต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การย้อมผ้า ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกระทรวงมหาดไทย เปรียบเสมือนการปฏิวัติสีเขียวครั้งใหญ่ที่ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศแล้ว ยังช่วยตอบโจทย์การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสภาวะโลกร้อน (Global warming) ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) ที่กระทบทุกประเทศทั่วทั้งโลกอย่างรุนแรง ซึ่งภายในแปลงโคก หนอง นา จะมีการปลูกต้นไม้ 5 ระดับก็คือ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการผสมผสาน ที่เล็งเห็นถึงปัจจัย 4 ทั้งหมด เช่น มีไม้เพื่อใช้ทำที่อยู่อาศัย ไว้ใช้สอย ไว้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร และการปลูกที่มีไว้ใช้สำหรับเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงมีส่วนที่ไว้ค้าขายผลิตผลทางเกษตร และอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ทุกพื้นที่จะเป็นกสิกรรมธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และไม่มีการเผาทำลายซากเศษใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะเอาส่วนนั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดบริหารจัดการไม่ให้เหลือเป็นเศษขยะ เป็นการลดภาวะฝุ่นควันปัญหา PM2.5 ได้ตั้งแต่ต้นเหตุ โดยต้นไม้ 5 ระดับนี้ จะทำให้มีไม้ยืนต้นมากกว่า 10 ล้านต้น ที่จะช่วยทำให้สภาพดินฟ้าอากาศทุกพื้นที่มีความร่มเย็น มีร่มเงาจากไม้ใหญ่ในพื้นที่ของตนเองได้ แล้วจะมีการปลูกทดแทนต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนอันจะส่งผลถึงระบบนิเวศ นี่จึงเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ช่วยต่ออายุโลกของเรา สร้างโลกที่น่าอยู่ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด และการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับเมืองที่ส่งผลต่อภาพรวมระดับประเทศ มีตัวอย่างผลสำเร็จจากการขับเคลื่อน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบผสมผสาน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนของเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร” ที่ทำให้เทศบาลได้ทราบถึงองค์ประกอบของขยะที่เป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดการขยะได้อย่างเหมาะสม ปริมาณขยะที่จะนำเข้าสู่ระบบการฝังกลบจึงลดลง ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างรายได้จากการแลกเปลี่ยน/ขายคาร์บอนเครดิต โดยในปัจจุบันเทศบาลเมืองยโสธรมีคาร์บอนเครดิตสะสมในบัญชีที่ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 12,149 ตัน มีคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) สามารถแลกเปลี่ยน/ขายคาร์บอนเครดิตแล้วกว่า 4,838 (tCO2e) คิดเป็นเงินประมาณ 1,000,000 บาท นอกจากนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ปี 64 – 65 ให้เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ด้วยการติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ และเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งยานพาหนะ การก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชนเข้าใจและมีส่วนร่วมตามมาตรการภาครัฐ
“การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ที่มิใช่กระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย แต่มันกระทบต่อทุกอณูชีวิต ทุกลมหายใจของมนุษย์ทั้งโลก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนในลักษณะ “ผู้นำต้องทำก่อน” และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนในการช่วยกันดูแลชุมชน ดูแลท้องถิ่น ดูแลจังหวัดของตนเองให้เป็นจังหวัดต้นแบบ ให้เป็นจังหวัดที่ทำบุญกับโลกใบนี้ของเรา ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น กระทรวงมหาดไทยจะได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประสานให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการขับเคลื่อนต่อยอดขยายผล ทำให้การปลดปล่อยก๊าซที่จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมันลดน้อยถอยลง เพื่อประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 อันจะทำให้ประเทศไทยอยู่คู่กับโลก โลกของเราอยู่คู่กับจักรวาล คู่กับมวลมนุษยชาติไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งมันจะไม่มีทางเป็นไปได้ “ถ้าวันนี้เราไม่ทำทันที”” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่