พิษพายุเตี้ยนหมู่-ร่องมรสุมส่งผลภาคเหนือ-ภาคกลางน้ำท่วม 816,607 ไร่ หนักสุด จ.นครสวรรค์รับมวลน้ำจาก พิษณุโลก-พิจิตร ท่วมพื้นที่ 276,993 ไร่ ด้านปภ.เตือน 5 จังหวัดเตรียมรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำออกเพิ่มส่งผลท้ายเขื่อนพระรามหกน้ำสูง 2 เมตร
วันนี้ (29 ก.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ทำให้มีน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง เริ่มประสบปัญหาน้ำท่วมจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ เช่น ชาวบ้านใน ม.6 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ท้ายเขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ลุ่มต่ำ ต้องขนของขึ้นที่สูง หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มอย่างรวดเร็วเมื่อคืนที่ผ่านมา จากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี
นอกจากนี้มวลน้ำจาก อ.โคกสำโรง และ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนหมู่ 5 เขตเทศบาลตำบลเขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 1 เมตร ชาวบ้านเร่งอพยพข้าวของและสัตว์เลี้ยง
จากการสำรวจยังพบว่าเกิดเหตุท่อระบายนํ้า ของกรมชลประทานแตกที่ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี ทำให้นํ้าในคลองชลประทานที่มีปริมาณนํ้าเกือบเต็มคลองชลประทานได้ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านของประชาชนบางส่วนที่อยู่ใกล้กับคลองชลประทานแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการซ่อมแซม
10 จังหวัดน้ำท่วม-เร่งผันน้ำลงแก้มลิงภาคกลาง
ล่าสุด สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เผยภาพถ่ายจากดาวเทียม COSMO-SkyMed-2 เมื่อเวลา 17.58 น.ของวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา พบน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ และภาคกลาง 816,607 ไร่
โดยจ.นครสวรรค์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด 276,993 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นมวลน้ำจากพิษณุโลกและพิจิตรที่ไหลลงมาสมทบในพื้นที่
ข้อมูลจากจิสด้า ระบุว่า นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ จ.พิจิตร 203,780 ไร่ พิษณุโลก 92,294 ไร่ ลพบุรี 69,866 ไร่ ชัยนาท 49,677 ไร่ เพชรบูรณ์ 46,505 ไร่ สุพรรณบุรี 26,529 ไร่ อุทัยธานี 20,019 ไร่ สิงห์บุรี 18,771 ไร่ อ่างทอง 8,033 ไร่ สระบุรี 3,689 ไร่ และ พระนครศรีอยุธยา 451 ไร่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และริมฝั่งแม่น้ำ
สำหรับมวลน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะถูกผันเข้าสู่แก้มลิง และทุ่งรับน้ำที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง อาทิ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งพระยาบรรลือ และทุ่งรังสิตใต้ ที่พร้อมรองรับน้ำที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน
ขณะที่มวลน้ำจำนวนหนึ่งที่มาจากเพชรบูรณ์จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าพื้นที่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยเฉพาะ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรีได้รับผลกระทบแล้วอย่างไรก็ตาม การผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ เป็นการชะลอการไหลของน้ำ ก่อนจะปล่อยลงสู่แม่น้ำสายหลักสายรอง และออกอ่าวไทยต่อไป จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ ริมลำน้ำตลอดสาย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ปภ.เตือน 5 จว.รับน้ำเขื่อนป่าสักคาดน้ำสูง 2 เมตร
วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ออกหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการ 5 จังหวัดพื้นที่จ.ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เตรียมรับมือผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากกรมชลประทาน แจ้งว่าพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่และหย่อมความกดอากาศต่ำ เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทำให้มีฝนตกหนาแน่น และเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วงวันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.นี้ จำนวน 515 ล้านลูกบาศก์เมตร หากยังคงระบายน้ำในอัตรา 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำเต็มอ่างในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ดังนั้นเพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลลงเขื่อนได้โดยไม่ทำให้น้ำเต็มเขื่อน กรมชลประทานจึงจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเป็น 3,456 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือประมาณ 400 ลบ.ม.ต่อวินาทีโดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อน้ำจำนวนนี้ไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-บำสักแล้วจะควบคุมให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 700 ลบ.ม.ต่อวินาที
ทั้งนี้ จะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำปาสักตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก ในชุมชมนอกคันกั้นน้ำบริเวณวัดสะตือ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2-2.5 เมตร โดยระดับน้ำที่สูงขึ้นดังกล่าว จะไม่กระทบกับพื้นที่บริเวณตั้งแต่ท้ายน้ำวัดสะตือ ไปจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ่วม! “ตลาดท่าตะโก” จมน้ำ 3 วันท่วมสูง 1 เมตร