ทส.-คมนาคม-วธ.สรุปผลกระทบโครงการรถไฟความเร็วสูงผ่านพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา พบทำตามกฎหมาย แต่ให้ลดสันรางจาก 19 เมตรเหลือ 17 เมตร เพื่อลดข้อกังวล ให้ทำรายงาน HIA เสนอศูนย์มรดกโลก เพิ่มจำกัดความสูงของอาคารรอบสถานี
วันนี้ (24 ก.ย.2564) จากการประชุมหารือเพื่อจารณาแนวทางการก่อสร้างสถานีอยุธยา จ.พระนคร ศรีอยุธยา โครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยมี 3 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคือนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม รวมถึงผู้แทนจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังกัดกระทรวงคมนาคม
ที่ประชุมพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่เพื่อลดข้อกังวลต่างๆ จะดำเนินการลดระดับสันรางลงจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร
อ่านข่าวเพิ่ม กรมศิลปากร ห่วงสถานีรถไฟความเร็วสูงกระทบมรดกโลกอยุธยา
ภาพ:กรมศิลปากร
คุมเข้มผังเมืองไม่ให้บดบังมรดกโลก
ส่วนข้อกังวลจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เรื่องการพัฒนาเมืองหลังโครงการ และอาจจะกระทบกับพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ได้ข้อสรุปว่าจะทำรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (HIA) เสนอต่อศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมจะกำหนดมาตรการจำกัดความสูงของอาคารรอบสถานี เช่น ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะออกระเบียบกำหนดความสูงไม่ให้เกินที่กำหนด และประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเทศบัญญัติควบคุมความสูงของอาคารโดยรอบสถานี
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สั่งการให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาร่วมกับทส.และวธ.ในประเด็นด้านกฎหมายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าในพื้นที่โครงการก่อสร้างในปัจจุบันไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย และข้อบังคับแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้ จะนำความเห็นของทส.และวธ.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแนวทางโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เคยจัดทำข้อกังวลผลกระทบของโครงการในพื้นที่มรดกโลกทางประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยหนึ่งในข้อเสนอสำคัญคือ ขอให้มีการพิจารณาทางเลือกในการออกแบบสถานีที่เหมาะสมอีกครั้ง เช่น ปรับลงเป็นทางลอดใต้ดิน หรือเบี่ยงไปใช้เส้นทางใหม่ หรือย้ายที่ตั้งสถานี
รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับรูปแบบสถานีที่มีการนำเสนอ โดยขอให้การรถไฟส่งรายละเอียดรูปแบบราง และอาคารสถานีในแนวเส้นทางรถไฟตลอดทั้งเส้นให้กรมศิลปากรตรวจสอบพิจารณา รวมทั้งขอให้มีนำเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกด้วย